ดาบน้ำลี้ฯ จากการค้นพบแหล่งถลุงเหล็กยุค 2,000 ปี สู่การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
//ดาบน้ำลี้ฯ จากการค้นพบแหล่งถลุงเหล็กยุค 2,000 ปี สู่การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน//
เรียบเรียงโดย นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
#โบราณโลหะวิทยาดินแดนล้านนา #การมีส่วนร่วมของชุมชน
.
- ย้อนไปในปี พ.ศ. 2562 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับผู้นำชุมชนร่วมศึกษาทางโบราณคดีในแอ่งที่ราบลี้ จังหวัดลำพูน จนมีการค้นพบกลุ่มแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่ จากการขุดค้นและวิเคราะห์หลักฐานข้างต้น พบว่า แหล่งถลุงเหล็กในพื้นที่อำเภอลี้ มีอายุอยู่ในช่วง 2,300 – 2,500 ปีแล้ว นับเป็นแหล่งผลิตเหล็กที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนล้านนา ผลิตเหล็กด้วยกรรมวิธีแบบทางตรง (Direct Iron Smelting Process) ใช้ความร้อนระหว่าง 1,150 – 1,300 องศาเซลเซียส โดยใช้เตาทรงกระบอกตรงมีผนังสูง (Shaft Furnace) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 90 – 100 เซนติเมตร สูงประมาณ 180 – 200 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษตรงที่สามารถก่อให้เกิดสภาวะหมุนวนเป็นเกลียวของอากาศได้ภายในตัวเตา
.
- จากการสังเคราะห์องค์ความรู้ข้างต้น นำมาสู่การเรียนรู้ด้วยกระบวนการโบราณคดีทดลอง (Experimental Archaeology) ด้วยการมีส่วนร่วมทั้งชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันหลายครั้งเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการถลุงเหล็กแบบโบราณ จนในที่สุดสามารถลุงได้ผลผลิตออกมาเป็นก้อนโลหะเหล็กบริสุทธิ์ ที่มีคุณภาพสูงเหมาะสมกับการนำไปทดลองขึ้นรูปเป็นอาวุธดาบตามรูปแบบของโบราณ
.
- เพื่อเป็นการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้จากทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ผู้เกี่ยวข้องภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอลี้จึงได้มีแนวทางร่วมกันในการนำผลผลิตที่ได้จากการเรียนรู้ ไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมต้นแบบ ในชื่อ “ดาบน้ำลี้ สิริเวียงชัย” ดาบสำคัญประจำอำเภอลี้ ซึ่งจะเป็นที่ระลึกถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สืบต่อไป
.
- กระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมต้นแบบ “ดาบน้ำลี้ สิริเวียงชัย” มีขั้นตอนโดยอาศัยการีส่วนร่วมจากช่างที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ดังนี้ 1.การจัดการและขึ้นรูปก้อนโลหะเหล็ก โดย ช่างประพจน์ เรืองรัมย์ เป็นกระบวนการปรับปรุงคุณภาพเหล็กให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยการนำโลหะเหล็กที่ได้จากการถลุงมาทำการคัดเกรดเนื้อโลหะและทำการตีทบเพื่อไล่มลทินในเนื้อเหล็กออกให้มีความสะอาดอีกทั้งยังเป็นการกระจายธาตุต่าง ๆ ภายในเนื้อเหล็กให้มีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้นมากอีกด้วย 2. การตีขึ้นรูปเป็นดาบ โดยช่างสล่าชินดิศ กวีกรณ์ ในขั้นตอนนี้ช่างจะทำการนวดเนื้อเหล็กสลับกับการให้ความร้อนก่อนทำการตียืดใบดาบขึ้นรูปให้เป็นทรงตามที่ต้องการ และทำการแต่งผิวให้เรียบสม่ำเสมอ 3.การจารึกชื่อดาบ โดยสล่าณฐ ดวงอำพร ช่างจะทำการใช้สิ่วตอกจารึกชื่อ ดาบน้ำลี้ สิริเวียงชัย และระบุปีที่สร้าง ทั้ง 2 ด้านของใบดาบ เป็นตัวอักษรไทย และอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง) ลงในเนื้อเหล็กของใบดาบ 4. การชุบแข็งใบดาบ โดย สล่าสมชาย ทิพย์มณี ช่างจะนำใบดาบผ่านความร้อนจนมีสีแดง หลังจากนั้นจึงนำไปลดอุณหภูมิด้วยน้ำ เทคนิคนี้เป็นวิธีการชุบแข็งใบดาบที่นิยมใช้มาตั้งแต่โบราณ หลักจากนั้นจะนำไปดาบไปขัดแต่งผิว ทำความสะอาด และลับคม และ 5. การทำหลูบเงิน และประกอบดาบ โดยสล่าไตรรงค์ โปธา ในขั้นตอนนี้ช่างจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นเงินความบริสุทธิ์ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ นำไปรีดเป็นแผ่นแล้วนำมาหุ้มและดุนขึ้นรูปบริเวณฝักและด้ามดาบ หลักจากนั้นจึงนำเส้นลวดเงิน มาเดินเส้นให้เป็นลวดลายและถักเป็นตาข่ายหุ้มบริเวณด้ามของดาบ ถือเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบตามจารีตโบราณของดินแดนล้านนา
.
- หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างดาบน้ำลี้ สิริเวียงชัย ใจความสำคัญของการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมครั้งนี้ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่าง ๆ โดยทางอำเภอลี้ ได้จัดพิธีสมโภชดาบประจำอำเภอขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทุกหมู่บ้าน มีการแห่อัญเชิญดาบไปยัง แต่ละหมู่บ้าน ชุมชน และสมโภชดาบ ณ วัดในแต่ละตำบล จนครบทั่วทั้ง 8 ตำบล ตั้งแต่วันที่ 4-11 เมษายน พ.ศ.2562 และประกอบพิธีประจุสิ่งมงคล ลงมหาอาคมปลุกเสกและสมโภช ณ มณฑลพิธีหน้าที่ว่าการอำเภอลี้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน  พ.ศ.2562 กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ รับรู้ และความภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
.
- ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ต้นแบบ “ดาบน้ำลี้ สิริเวียงชัย” ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ความเจริญ ความสมัครสมานสามัคคี ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของเมืองลี้ ที่จะอยู่คู่กับเมืองลี้ไปตลอดกาล โดยมีจุดเริ่มต้นจากการค้นพบทางโบราณคดี นำมาสู่การสังเคราะห์องค์ความรู้ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอดออกไปในอีกหลากหลายแนวทาง อันจะนำประโยชน์มาสู่ชุมชนท้องถิ่นต่อไป ปัจจุบันดาบเล่มนี้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ณ ที่ว่าการอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
.
- กระบวนการมีส่วนร่วมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงได้ก็เพราะความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย ประกอบด้วย ฝ่ายปกครองอำเภอลี้ คณะสงฆ์อำเภอลี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถาบันทางการศึกษา ปราชญ์ช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ และที่สำคัญคือ พี่น้องประชาชนชาวอำเภอลี้ทุกท่าน






















(จำนวนผู้เข้าชม 2375 ครั้ง)