...

รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีวัดศรีสวาย
***รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีวัดศรีสวาย พ.ศ.๒๕๕๓***
 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยขอเผยแพร่รายงานทางโบราณคดี "รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีวัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓" สามารถดาวน์โหลดเพื่ออ่านหรือใช้ในการศึกษาตามลิ้งค์ที่แนบนี้ >>>
https://drive.google.com/.../1uVVaNhkkLCslnEN0SRV.../view...
.
 รายงานฉบับนี้ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวัดศรีสวาย การปฏิบัติงานขุดค้นทางโบราณคดี ชั้นดินทางโบราณคดี การจำแนกและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี และผลจากการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ดำเนินการโดยนายภานุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๕๓) จากร่องรอยหลักฐานที่พบทำให้สามารถวิเคราะห์ แปลความหมายและสรุปการใช้งานพื้นที่วัดศรีสวาย โดยแบ่งตามลำดับชั้นทับถมทางวัฒนธรรมได้ดังนี้
.
 ๑.) สมัยก่อนสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเบาบาง ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ปริมาณน้อยมาก และมีชิ้นหนึ่งที่สามารถระบุรูปทรงได้ เป็นภาชนะเนื้อดินธรรมดาขึ้นรูปด้วยมือ ลักษณะก้นกลมที่ไม่มีคอตกแต่งด้วยลายเชือกทาบทั้งใบ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่เคยพบจากการขุดค้นทางโบราณคดีระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๕ และในสมัยนี้น่าจะยังไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆ เนื่องจากไม่พบหลักฐานประเภทอิฐดินเผา กระเบื้องมุงหลังคาดินเผา วัตถุปูนปั้น และสะเก็ดหินชนวน ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างเลย  แต่กลับพบในสมัยถัดมาคือราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ข้อมูลดังกล่าวจึงมีความขัดแย้งกับการกำหนดอายุสมัยการสร้างปราสาท ๓ หลัง ที่กล่าวว่าควรสร้างขึ้นในราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อย่างไรก็ตามช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็จัดว่ามีความใกล้เคียงกันมาก หรืออาจจะอธิบายได้ว่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าวนั้นเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างสมัยหลัง เพราะในสมัยแรกสร้างนั้นได้ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก
.
 ๒.) สมัยสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ในสมัยนี้พบโบราณวัตถุที่มีความหลากหลาย ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย เศษเครื่องถ้วยสมัยล้านนา เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งใต้ และสมัยราชวงศ์หยวน อันแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างถิ่นทั้งที่ห่างไกลและใกล้เคียง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่พบเศษภาชนะดินเผาประเภทชามหรือจานเขียนลายสีดำใต้เคลือบจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยเลย  จึงสันนิษฐานว่าภาชนะดินเผาประเภทดังกล่าวอาจมีความนิยมแพร่หลายในสมัยหลัง หรือเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นเขตศาสนสถานที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจึงไม่ค่อยพบภาชนะประเภทที่ใช้สอยกันในครัวเรือนมากนัก แต่ที่พบและมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ด้วยนั้น ได้แก่ ผางประทีปที่ใช้จุดไฟเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ไหดินเผาเนื้อแกร่งทั้งแบบขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่อาจใช้เป็นภาชนะบรรจุอัฐิ อ่างดินเผาขนาดใหญ่ ที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นอ่างน้ำมนต์ (?) ภาชนะประเภทคนทีและคนโท ที่ควรเป็นภาชนะแบบพิเศษสำหรับการประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะ และหม้อดินเผาก้นกลมรูปทรงค่อนข้างแป้น ผิวภายนอกมีร่องรอยปูนขาวฉาบอยู่ ซึ่งก็คงจะเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมเช่นเดียวกัน และสันนิษฐานว่าวิหารน้อยที่ก่อด้วยศิลาแลงก็ควรสร้างขึ้นในสมัยนี้
.
 ๓.) สมัยหลังสุโขทัยที่ร่วมสมัยอยุธยาตอนกลาง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ เป็นชั้นที่พบโบราณวัตถุหนาแน่นและมีความหลากหลาย ทั้งประเภทที่มีอายุเก่าที่สุด คือ เศษเครื่องถ้วยสมัยลพบุรีและเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งใต้ และที่มีอายุในสมัยถัดมาคือ เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน เศษเครื่องถ้วยสมัยล้านนา เศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย และเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อันแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างถิ่นทั้งที่ห่างไกลและใกล้เคียง สำหรับเครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาก็ยังคงพบต่อเนื่องมาในสมัยนี้ด้วย ที่สำคัญคือ ตะคันดินเผาสภาพค่อนข้างสมบูรณ์จำนวนหลายใบ ชิ้นส่วนฐานประติมากรรมศิลาทรายขนาดเล็ก ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานพระพุทธรูป (?) ชิ้นส่วนดอกไม้และใบไม้ทองคำ ที่สันนิษฐานว่าเป็นต้นไม้จำลองทองคำ รวมทั้งผลึกแร่ควอตซ์ ที่สันนิษฐานว่าเป็นวัตถุศิลาฤกษ์ ซึ่งชิ้นหลังนี้ควรมีมาตั้งแต่แรกสร้างศาสนสถานแต่อาจถูกขุดรื้อจนมาปะปนอยู่ในชั้นวัฒนธรรมสมัยนี้  และสันนิษฐานว่ากำแพงแก้วที่มีส่วนฐานและผนังเป็นหินชนวน ก็ควรทำขึ้นในสมัยนี้ด้วยเช่นกัน 
.
 และจากการขุดค้นที่ระดับชั้นดินบนยังพบหลักฐานที่มีอายุสมัยหลังต่อมาอีก คือ เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ด้วย อันแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่ยังคงมีต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่ง
.
 สุดท้ายนี้ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เพียงส่วนหนึ่งของวัดศรีสวาย ในอนาคตหากมีการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมก็น่าจะทำให้สามารถสรุปเรื่องราวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญคือการตรวจสอบอายุสมัยแรกสุดของการสร้างปราสาท ๓ หลัง ที่ได้ข้อสรุปจากการขุดค้นครั้งนี้ว่า “น่าจะสร้างขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (ไม่ควรเก่าไปกว่านั้น)”







(จำนวนผู้เข้าชม 2203 ครั้ง)