...

ทับหลัง ตอนท้าวหิมวันต์ถวายนางปารพตีแด่พระศิวะ


วัสดุ หินทราย

แบบศิลปะ ศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบบาปวน

อายุสมัย ราวพุทธศตวรรษที่ 16

สถานที่พบ ได้จากการขุดแต่งพระธาตุพันขันอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ทับหลัง คือ แผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ใช้ประดับอยู่เหนือกรอบประตูปราสาทหิน ทำหน้าที่เป็นคานรับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างที่อยู่ตอนบน ลวดลายบนทับหลังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับปราสาทหินอื่นๆ ที่มีอายุจารึกการสร้างที่แน่นอน ทำให้กำหนดอายุโบราณสถานที่ไม่มีอายุการก่อสร้างที่แน่นอนได้

ทับหลังสลักภาพพระศิวะประทับนั่งอยู่ตรงกลางในท่ามหาราชลีลา (ชันเข่าขวา) อยู่ในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล (เกียรติมุข) หน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง และใช้มือทั้งสองยึดท่อนพวงมาลัยไว้ เบื้องขวาของพระศิวะมีภาพบุคคล 2 คน คือ ท้าวหิมวันต์ กำลังใช้มือทั้งสองประคองนางปารพตี (พระอุมา) ซึ่งเป็นธิดาของตนถวายแด่พระศิวะ ปลายซุ้มเรือนแก้วเป็นรูปนาค ทั้งด้านบนและด้านล่างของท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้ประกอบ ระหว่างลายใบไม้นี้ยังมีแกนชนวนเชื่อมกันซึ่งแสดงให้เห็นว่าทับหลังแผ่นนี้ยังสลักไม่เสร็จสมบูรณ์มาแต่เดิม

ภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ตอนนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยพบแล้วจำนวน 4 แผ่นคือ ทับหลังที่วัดโพธิ์ย้อย อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ (ศิลปะแบบเกลียง-บาปวน) ทับหลังของมุขปราสาทประธานปราสาทเมืองต่ำ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ (ศิลปะแบบเกลียง-บาปวน) ทับหลังของโคปุระด้านทิศตะวันออกกู่พระโกนา (ศิลปะแบบบาปวน) และทับหลังของพระธาตุพันขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยทับหลังทั้งหมดนี้กำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16 ทั้งสิ้น

(จำนวนผู้เข้าชม 783 ครั้ง)