...

จารึกบนฐานรูปเคารพ


วัสดุ
หินทรายสีเทา

อายุสมัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ตัวอักษร อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต

สถานที่พบ พบจากการขุดแต่งแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2549

บริเวณด้านหน้าของฐานหน้ากระดานล่างมีจารึกอักษรปัลลวะ อายุพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นข้อความภาษาสันสกฤต 4 บรรทัด ในรูปแบบฉันท์อนุษฏุภ 4 บท ซึ่งมีคำแปลอยู่ 2 สำนวนดังนี้

1. แปลโดย นายสุรสิทธิ์ ไทยรัตน์ นักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งปรับแก้ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร

(บรรทัดที่ 1-2) พระราชาผู้ทรงพระนามว่า จิตรเสน ผู้เป็นพระนัดดาของพระศรีสารวเภามะ เป็นพระโอรสของพระศรีวีรวรมัน โดยแท้จริงแล้ว แม้ว่าทรงเป็นพระอนุชาตามศักดิ์ แต่ทรงได้เป็นพระภราดาของพระศรีภววรมัน ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ต่อจากนั้นมาจึงทรงได้รับการขนานพระนามใหม่ว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน

(บรรทัดที่ 3) พระองค์ได้แสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระศิวะผู้ทรงพระนามว่า พระพฤษธวัช ได้สร้างรูปพระโคที่ตกแต่งด้วยศิลาอย่างดี ขณะที่ทรงสำเร็จความสมประสงค์ที่พระองค์ทรงมีชัยชนะอยู่เหนือราชอาณาจักรทั้งปวง

(บรรทัดที่ 4) พระองค์ทรงมีพระปัญญาปราดเปรื่องที่สมบูรณ์ด้วย (ความยิ่งใหญ่ในการปราบข้าศึกศัตรู) ทรงมีพระดำรัสถึงเรื่องโบราณราชประเพณีที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทรงใฝ่พระทัยอยู่ทุกขณะที่จะปราบปรามศัตรูให้อยู่ในอำนาจด้วยการ 1.ระมัดระวังกองทัพมิให้ประมาท 2.บำรุงรักษากำลังกองทัพด้วยดี และ 3.จัดระเบียบกองทัพให้เข้มแข็ง

2. แปลโดย นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภายใต้การตรวจของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ที่ปรึกษาศูนย์สันสกฤต มหาวิทยาลัยศิลปากร Prof. Dr. Peter Skilling, Representative of Pali Text Society (Oxford England)

(บรรทัดที่ 1-2) พระราชาผู้ทรงมีพระนามว่า จิตรเสน ทรงเป็นพระนัดดาในพระเจ้าศรีสารวเภามะ พระราชบุตรในพระเจ้าศรีวีรวรรมัน แม้เป็นพระอนุชาองค์น้อยในพระเจ้าศรีภววรรมัน แต่ก็ได้รับราชาภิเษกเป็นพระราชา ก็ด้วยพระราชอำนาจที่มากอย่างแน่นอน ภายหลังพระองค์ก็ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรรมัน

(บรรทัดที่ 3) เมื่อพระองค์พิชิตดินแดนทั้งหลายได้แล้ว ด้วยความภักดีต่อพระวฤษธวชจึงได้สถาปนาโคศิลา ณ ดินแดนแห่งนี้

(บรรทัดที่ 4) พระองค์ทรงผูกมัดไว้แล้วซึ่งจิตใจของเหล่าข้าศึกที่ภักดีแล้ว เหมือนกับทับเหง้ามันทั้งหลายด้วยศิลา หลังจากที่พระองค์ได้ขจัดความคิดแบบเก่าทิ้งไปแล้ว...

จารึกที่พบบนฐานรูปเคารพหลักนี้ เป็นจารึกพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันหลักที่ 13 ที่พบในประเทศไทย จารึกหลักนี้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญทั้งนี้เพราะเป็นจารึกหลักแรกและหลักเดียวที่พบจากการขุดแต่งทางโบราณคดี อีกทั้งยังเป็นจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมันที่พบในประเทศไทยที่มีจำนวนฉันท์มากที่สุด โดยจารึกหลักอื่นจะมีฉันท์เพียง 3 บทเท่านั้นนอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงนัยบางประการของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง ไม่น่าที่จะมีการอยู่อาศัยของผู้คน แต่การค้นพบจารึกหลักนี้ได้เป็นประจักษ์พยานที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยการทำกิจกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเกลือสินเธาว์ ข้าว หรืองานโลหะกรรม ซึ่งเคยดำเนินมาแล้วตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละบกซึ่งเสวยราชย์ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ยังให้ความสำคัญและได้ผนวกเอาดินแดนแห่งนี้ไว้ในขอบเขตพระราชอำนาจของพระองค์

(จำนวนผู้เข้าชม 1746 ครั้ง)