...

คัมภีร์ใบลานสำคัญ ในพระวิหารสมเด็จ ส.ผ. (เสาวภา ผ่องศรี)
          สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสร้างพระวิหารสมเด็จซึ่งเดิมเรียกว่าหอพุทธสาสนสังคหะ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นหอพระธรรมประจำวัด (วัดอยู่ในเขตพระราชฐานลานพระราชวังดุสิต พื้นที่ชายธงสามเหลี่ยมแหลมยาวติดทุ่งนามีต้นไทรต่อเนื่องกับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แต่เดิมจึงชื่อวัดแหลม หรือวัดไทรทอง) มีหนังสือใบลานเป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบันถึง ๓ สมัย ที่สำคัญจัดสรรนำมาแสดง ดังนี้











พานที่ ๑ สมัยอยุธยา 
เลขที่ ๒๒ เรื่องวิมติวิโนทนี วินยฎีกา อธิบายสิกขาบทของภิกษุว่าด้วยการล่วงอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส และปาจิตตีย์ ฉบับล่องชาด ๑๒ ผูก สร้างโดยอุบาสกขุนยอดโยธา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๖ สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาทอง อายุ ๓๘๐ ปี 
เลขที่ ๗๐ เรื่องมิลินทปัญหาบาลี พระเจ้ามิลินท์ถามปัญหาเชิงพุทธปรัชญากับพระนาคเสน ฉบับทองทึบ ๑๕ ผูก สร้างโดยมหาคงอิน เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๑ สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อายุ ๒๗๕ ปี 
 
พานที่ ๒ สมัยธนบุรี
เลขที่ ๓๓๘ เรื่องสารสังคหะ อธิบายพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาโดยสังเขป ครอบคลุมสาระธรรมทั้งโลกิยะและโลกุตตระ ฉบับทองทึบ ๖ ผูก สามเณรบัวสร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๐ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อายุ ๒๔๖ ปี 
เลขที่ ๓๒๓ เรื่องสารสังคหะ อธิบายพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาโดยสังเขป ครอบคลุมสาระธรรมทั้งโลกิยะและโลกุตตระ ฉบับทองทึบ ๑๓ ผูก ไม่ปรากฏผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อายุ ๒๔๕ ปี  

พานที่ ๓ สมัยรัตนโกสินทร์ ร.๑ - ร.๒ 
เลขที่ ๒๗๑ เรื่องธรรมบทอรรถกถา แสดงธรรมโดยการเล่าเรื่องปรารภเหตุการณ์ต่างๆ ฉบับทองทึบ ๖ ผูก ไม่ปรากฏผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อายุ ๒๓๘ ปี 
เลขที่ ๑๗-๑๘ เรื่องขุททกสิกขา วินิจฉัยสิกขาบทเล็กน้อยนอกพระไตรปิฎก ฉบับล่องชาด ๖ ผูก สร้างโดยเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อายุ ๒๓๕ ปี 
เลขที่ ๙๓ เรื่องทศชาติชาดก ชาดกพระเจ้า ๑๐ ชาติ ฉบับทองทึบ ๑๔ ผูก ไม่ปรากฏผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อายุ ๒๐๖ ปี
 
พานที่ ๔ สมัยรัตนโกสินทร์ ร.๓ - ร.๕ 
เลขที่ ๑๒๘ เรื่องปปัญจสูทนี คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระสูตร เช่น ธรรมที่ควรต้องละเพื่อไขความเนิ่นช้าแห่งจิต ฉบับล่องชาด ๑๑ ผูก สร้างโดยจันทโชติคุณูปการของคุณยายค้อมมารดาพระศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖  สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุ ๑๙๐ ปี
เลขที่ ๓๒๔ เรื่องสารสังคหะ อธิบายพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาโดยสังเขป ครอบคลุมสาระธรรมทั้งโลกิยะและโลกุตตระ ฉบับทองทึบ ๑๒ ผูก สร้างโดยพระองค์เจ้าบันเทิง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุ ๑๕๙ ปี 
เลขที่ ๓๔๓ เรื่องสารสังคหะ อธิบายพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาโดยสังเขป ครอบคลุมสาระธรรมทั้งโลกิยะและโลกุตตระ ฉบับทองทึบ ๑๕ ผูก สร้างโดยขุนเทพอาญาเอี่ยม-แม่นิ่ม เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุ ๑๓๕ ปี 
พานที่ ๕ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สร้าง)
สำรวจพบ ๑๖ รายการ(เลขที่) จำนวน ๒๘๘ ผูก ซึ่งนับว่าพระองค์มีศรัทธาสร้างคัมภีร์ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาจำนวนมากถึงประมาณ ๕ % ของคัมภีร์ทั้งหมดที่ลงทะเบียนในพระวิหารสมเด็จ ทั้งนี้พระองค์บันทึกไว้เป็นการเฉพาะว่า “สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา สำหรับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อุทิศส่วนพระกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ดังตัวอย่างคัมภีร์ต่อไปนี้
เลขที่ ๕๒๔ เรื่องเวสสันดรชาดกกถา เรื่องราวในพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างยิ่งยวด สละได้ทุกอย่างแม้แต่บุตรและภรรยา ฉบับทองทึบ ๑๖ ผูก สร้างโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุ ๑๐๕ ปี 
 
พานที่ ๖ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สร้าง)
สำรวจพบ ๒๖ รายการ(เลขที่) จำนวน ๒๓๓ ผูก ซึ่งนับว่าสร้างไว้หลากหลายเรื่องมาก ถ้านำจำนวนผูกมาเปรียบเทียบได้ประมาณ ๔ % ของคัมภีร์ทั้งหมดที่ลงทะเบียนในพระวิหารสมเด็จ มีข้อสังเกตส่วนใหญ่ท่านไม่ได้บันทึกปีที่สร้างไว้ จึงไม่ทราบว่าท่านสร้างไว้เมื่อใด เป็นแต่เพียงประมาณว่าท่านมีชีวิตระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๑-๒๔๔๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๕ คัมภีร์ที่สร้างจึงมีอายุไม่เกิน ๑๘๕ ปี ดังเช่นคัมภีีร์ต่อไปนี้
เลขที่ ๑๓๔ เรื่องทีฆนิกายมหาวรรค เนื้อความพระสูตรที่มีความยาวมากๆ เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น ฉบับทองทึบ ๑๒ ผูก สร้างโดยเจ้าจอมมารดาเปี่ยม(สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) ไม่ปรากฏปีที่สร้าง

------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : เอกสารในพิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร (ตามโครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตร กับกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร) ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๖

(จำนวนผู้เข้าชม 277 ครั้ง)