...

ความศรัทธาของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อองค์พระธาตุพนม
          จากตำนานอุรังคธาตุ ประกอบกับหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี บ่งถึงกำเนิดขององค์พระธาตุพนมว่า เมื่อระยะเวลาประมาณ พ.ศ.๑๒๐๐ – ๑๔๐๐ บริเวณอำเภอธาตุพนมเคยเป็นศูนย์รวมของกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพราะอยู่ในชัยภูมิที่เป็นศูนย์กลางของทางคมนาคม ศาสนสถาน จึงได้ถูกสร้างขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นบริเวณที่ราบเสมอกัน อยู่ห่างจากลำน้ำโขงเก่าที่เปลี่ยนทางเดินประมาณ ๕๐.๐๐ เมตร (ลำน้ำโขงเก่าอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ ปัจจุบันเรียกว่าบึง บึงยาว หรือบึงธาตุ) โดยได้มีการขุดคู ๓ ด้าน คือด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ คูด้านทิศเหนือและทิศใต้น่าจะถูกขุดยาวออกไปทางทิศตะวันออกจดลำน้ำโขง ใช้ลำน้ำโขงเดิมเป็นคูด้านทิศตะวันออก แต่ปัจจุบันคูน้ำด้านทิศเหนือและทิศใต้ที่ขุดยาวออกไปทางทิศตะวันออกไม่ปรากฏร่องรอย เพราะมีถนนสายนครพนม – อุบลราชธานี ตัดทับผ่านมาเป็นเวลานานแล้ว ในการขุดคูทั้งสามด้านนั้น ได้นำเอาดินที่ขุดได้เข้ามาถมที่ตรงกลางกลายเป็นเนินดินสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๒.๐๐ เมตร เรียกตามตำนานว่า ภูกำพร้า และเนื่องจากการขุดคูเพียงสามด้าน ด้านทิศตะวันออกไม่ได้ขุด ในการถมดินจึงทำให้ภูกำพร้าสูงทางด้านทิศตะวันตก และลาดต่ำไปทางทิศตะวันออก            เมื่อได้สร้างภูกำพร้าเสร็จแล้ว จึงสร้างศาสนสถานขึ้นที่ยอดเนินของภูกำพร้า การสถาปนาองค์พระธาตุพนมครั้งนี้ ได้ปรากฏอยู่ในการเขียนตำนานอุรังคธาตุ ที่พยายามอ้างอิงไปถึงสมัยพุทธกาล อันเป็นวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของคนโบราณในแถบนี้ ซึ่งมีภูมิหลังทางด้านพุทธศาสนา ว่า พระมหากัสสปะ ผู้รู้พุทธทำนายได้นำกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้าหรือที่เรียกกันว่า พระอุรังคธาตุ มายังภูกำพร้า ตามตำนานกล่าวว่า สมัยนั้นเป็นเวลา พ.ศ. ๘ และเหตุที่พระเถรเจ้ามาที่ภูกำพร้านี้ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงทำนายไว้ว่า พระอุรังคธาตุของพระองค์จะได้มาประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อรอเวลาผู้มีบุญมาสถาปนาในภายหลัง เรื่องที่พระมหากัสสปะนำพระอุรังคธาตุมาที่ภูกำพร้านี้ ทราบไปถึงพญา ๕ ตน ซึ่งมีบ้านเมืองครอบครองอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบคือ พญาสุวรรณภิงคาร เมืองหนองหานหลวง พญาคำแดง เมืองหนองหานน้อย พญาอินทปัตฐ เมืองอินทปัตฐนคร พญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร พญาจุฬนีพรหมทัต แคว้นจุฬนี จึงเมาร่วมกันก่อสร้าง “อูบมุง” เพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ และตำนานได้กล่าวเป็นทำนองอิทธิปฎิหาริย์ว่า พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปฏิหาริย์ให้ทราบว่า ยังมิใช่เวลาที่สมควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พญา ๕ ตน จึงเพียงประดิษฐานพระอุรังคธาตุไว้ ณ ที่นั้น โดยยังมิได้ทำการสถาปนา
          พระธาตุพนม ประดิษฐานที่วัดพระธาตุพนมวรวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระธาตุพนมเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาชนลาว เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๓ ของทุกปี พุทธศาสนิกชนจะหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ มาสมโภชและนมัสการพระธาตุพนม
          วัดพระธาตุพนมเป็นวัดวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถึงคราว พระราชพิธีราชาภิเษกทุกรัชกาลมา จะต้องนำน้ำจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไปร่วมพิธีด้วยเพื่อประกอบพิธีมุรธาภิเษก และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีเดิม พระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นไม้ ทอง เงิน น้ำอบและผ้าคลุมส่งไปนมัสการพระธาตุพนมทุกปี และเมื่อถึงเทศกาลเข้าปุริมพรรษา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาทุกปีมา งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี ถือเอาวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ของ ทุกปีเป็นวันแรกของงานไปสิ้นสุดเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓
          พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยชาวบ้านจากจังหวัดหนองคาย เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๒ ภาพชุดนี้ทำให้เห็นความศรัทธาของพระสงฆ์และชาวบ้านที่มีต่อองค์พระธาตุพนม นอกจากนี้ยังทำให้เห็นภาพองค์พระธาตุพนมในช่วงปีพ.ศ.๒๕๑๒ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความศรัทธาของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีต่อองค์พระธาตุพนมนั้นมีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย









----------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวอุไรวรรณ แสงทอง นักจดหมายเหตุชำนาญการ
----------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง :
จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตพนม จังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๒๒ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี , ภาพถ่ายส่วนบุคคลพระธรรม ไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) (๒) ภ สบ ๘.๒/๒/๑

(จำนวนผู้เข้าชม 1569 ครั้ง)