...

พระนครคีรีในฝีพระหัตถ์สมเด็จครู (ตอนแรก)

  

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  เจ้านายพระองค์สำคัญในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นที่รู้จักของอนุชนรุ่นหลัง ด้วยพระเกียรติคุณมากมาย ในทางศิลปะ ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ดนตรี ตลอดจนประวัติศาสตร์ และโบราณคดี  ปรากฏผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์จนถึงปัจจุบันนี้ อย่างเช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร พระอุโบสถ และภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ฯลฯ ผลงานต่างๆ ที่ทรงสร้างสรรค์มากมายหลายด้าน ทำให้บรรดาศิษย์ และอนุชนรุ่นหลังขนานนามยกย่องว่า เป็น “สมเด็จครู” นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

          ผลงานที่ยังคงเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานในความสามารถทางศิลปะของพระองค์อย่างหนึ่ง คือ ตาลปัตร และพัดรอง ซึ่งทำขึ้นในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยพิธีสงฆ์ โดยมีความนิยมมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จ    พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา 

         สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ออกแบบพัดรองที่ระลึก สำหรับงานพระราชพิธีต่างๆ  หลายโอกาส ด้วยความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และสื่อความถึงวาระโอกาสนั้นๆ  การออกแบบพัดรองถวายพระสงฆ์ จึงได้ขยายออกไปสู่บรรดาพระราชวงศานุวงศ์ และบุคคลสำคัญอื่นๆ ด้วย 

         ผลงานพัดรองที่ระลึกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากเป็นของที่ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และ ยังทรงรับออกแบบให้กับเจ้านายพระองค์ต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ กระทั่งมาจนถึงรัชกาลที่ ๘  

        ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร  ในรัชกาลที่ ๘  สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ ขณะพระชนม์ได้ ๕๔ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง    พระศพไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนจะมีงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ ในพุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งในงานพระเมรุครั้งนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงออกแบบ พัดรองสังเค็ด สำหรับงานพระเมรุคราวนั้นอีกครั้ง แม้จะทรงมีพระชนมายุมากถึง ๗๐ กว่าพรรษาแล้ว ก็ยังทรงพระอุตสาหะร่างแบบพัดรองขึ้น ก่อนจะให้ผู้รับผิดชอบนำไปเพิ่มเติมรายละเอียดแก้ไขต่อไป ซึ่งน่าสนใจว่า พัดรองคราวนั้น ได้ทรงออกแบบมาให้เกี่ยวข้องกับเมืองเพชรบุรีด้วย

         รูปพัดรองดังกล่าว มีลักษณะ เป็นพัดผ้าแพรสีเขียวอ่อน อันเป็นสีวันประสูติ คือวันพุธ ขอบสีเขียวตองอ่อน ส่วนของนมพัดส่วนบน เขียนเป็นรูปพระเจดีย์ทรงลังกาสีขาวอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนเนินเขาสีเขียวตองอ่อน ซึ่งมีใบตาลเป็นแฉกประดับอยู่ ถัดลงมาใต้เนินเป็นอักษรโลหะ ที่ออกแบบเพื่อให้เป็นรูป ว.อ. อันย่อมาจากพระนาม “วไลยอลงกรณ์” ประดับอยู่ โดยมีตัวเลขไทย ๒๔๒๗ และ ๒๔๘๑ อยู่ถัดมาทางซ้ายและขวาของอักษรย่อนั้น อันหมายถึงปีประสูติ และสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยองกรณ์ฯ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร 

        พระเจดีย์ทรงระฆังสีขาว ซึ่งเป็นภาพหลักในพัดรองดังกล่าว มีรูปลักษณะเดียวกันกับ พระธาตุจอมเพชร ปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนยอดเขามหาสวรรค์ ในเวลาเดียวกันกับที่โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชวังขึ้น บนเขาลูกเดียวกันนี้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ ที่มาของพระเจดีย์องค์นี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ  บุนนาค) ความตอนหนึ่งระบุว่า “....  เขาอีกยอด ๑ โปรดให้ก่อหุ้มพระเจดีย์เก่าขึ้นอีกองค์ ๑ ฐาน ๑๐ วา สูง ๑ เส้นให้ชื่อพระธาตุจอมเพ็ชร์....” ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ทรงระฆัง เป็นเจดีย์ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ กล่าวคือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บานประทักษิณ ๒ ชั้น และภายในองค์เจดีย์ เป็นโถง ที่มีเสาก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักองค์เจดีย์ส่วนยอดไว้

         พระธาตุจอมเพชร  นับว่าเป็นลักษณะที่นิยมสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ในลักษณะดังกล่าว เป็นเจดีย์ที่มีการถ่ายทอดรูปแบบมาแต่ครั้งโบราณ  ดังปรากฏกระแสพระราชดำริว่าด้วยการสร้างพระเจดีย์ทรงระฆังที่ทรงถือว่าเจดีย์ทรงดังกล่าวเป็นทรงที่ถูกต้องและเป็นรูปแบบที่ได้รับการพัฒนาสืบต่อมาจากลังกา ซึ่งแสดงให้เห็นความเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธศาสนาตั้งอยู่ในอินเดีย ก่อนจะเข้ามาสู่ลังกาและสยามประเทศ

 พระธาตุจอมเพชร เป็นพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ ที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล และด้วยนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานว่า “จอมเพชร” อันจะมาจากพระราชประสงค์ ที่จะให้เป็นปูชนียสถานอันยิ่งใหญ่ของเมืองเพชรบุรีนั้น คล้องกันกับพระนามกรมของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ซึ่งทรงกรมที่ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร นั่นเอง จึงทำให้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเลือกมาเป็นภาพประกอบพัดรองในงานพระศพเจ้าฟ้าพระองค์นั้น

 พัดรองงานพระเมรุ สมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า นั้นยังเป็นพัดรอง ๑ ใน ๓ เล่มสุดท้าย ที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ โดยนอกจากพัดรองดังกล่าว ยังมีพัดรองงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบัณบัวผัน และงานศพหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ ณ อยุธยา

  ดังได้กล่าวข้างต้นว่า ขณะที่ทรงออกแบบพัดรองนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระชนมายุถึง ๗๗ พรรษาแล้ว หม่อมเจ้าดวงจิตร  จิตรพงศ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

 

“...ในชั้นหลังนี้ไม่สามารถจะทรงเขียนอย่างวิจิตรได้ดังแต่ก่อน ด้วยพระเนตรไม่ดีเสียแล้ว จึงต้องทรงเขียนลัดให้เป็นแบบง่ายๆ เสียเป็นพื้น ...ขณะนั้น มีพระชันษาได้ ๗๗ ปีแล้ว เมื่อทรงเขียนสองเล่มแรก ก็ไม่สู้เดือดร้อน ด้วยเป็นลายง่ายๆ และไม่ใช่สำคัญ แต่พัดเล่มสุดท้ายนั้นเป็นพัดสำหรับใช้ในงานใหญ่ จึงอยากจะทรงเขียนถวายสนองพระเดชพระคุณให้ดีที่สุด ดังเช่นที่ได้เคยเขียนทูลเกล้าฯ ถวายแล้วมาแต่ก่อน แต่ก็ไม่สามารถเขียนได้ดังพระทัยปรารถนา ด้วยเวลาที่ทรงเขียนนั้น ทอดพระเนตรเส้นไม่เห็นเลย ต้องใช้แว่นขยายส่องขีดทีละเส้นด้วยความลำบาก เมื่อทรงเขียนเสร็จแล้วก็ไม่ดีสมพระทัย รู้สึกพระองค์ว่าเสื่อมความสามารถเสียแล้ว ตั้งแต่นั้นมาจึงไม่ทรงรับเขียนประทานผู้ใดอีก คงแต่ประทานแนวความคิดแก่ผู้ที่ทูลปรึกษาเท่านั้น...”

 

อ้างอิง

ศิลปากร, กรม. ตาลปัตร ฝีพระหัตถ์สมเดจฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติ 

                วงศ์. ๒๕๕๓, กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊ค. 

สุรศักดิ์  เจริญวงศ์. สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “สมเด็จครู” 

                นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม. ๒๕๔๙,กรุงเทพฯ  : มติชน.

วรรณกรรมและประวัติศาสตร์, สำนัก. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔. ๒๕๕๔, 

                กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร .

ศิลปากร, กรม. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของ 

                เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ฯ (ขำ  บุนนาค). ๒๕๖๑, กรุงเทพฯ :    

                อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

พัสวีสิริ  เปรมกุลนันท์. วัด – วัง ในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ. ๒๕๖๐, 

                กรุงเทพฯ : มติชน.

วสันต์  ญาติพัฒ

ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี : เรียบเรียง

-ขอบคุณภาพประกอบจาก

๑.รูปพัดวไลย จากเพจ "สมเด็จครู" https://www.facebook.com/HRHPrinceNaris

๒.รูปพระธาตุจอมเพชร ของพิพิธภัณพสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 1363 ครั้ง)