...

สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๘ อนุสรณ์แห่งไมตรี

 

     สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๘ อนุสรณ์แห่งไมตรี

     ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต และดัชเชสอลิธซาเบธ รอตซาลา พระชายา เสด็จกลับจากประพาสเมืองเพชรบุรีในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ แล้ว ประทับอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และเสด็จไปสถานที่สำคัญอีกบางแห่ง เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระพุทธรัตนสถาน วัดเบญมบพิตรดุสิตวนาราม วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เข้าเฝ้า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เสด็จไปวังพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช  คลับชาวเยอรมันในกรุงเทพฯ เป็นต้น โดยดยุคฯ ได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการบางท่านผู้ให้การรับรองในการเสด็จคราวนี้มาเลี้ยงอาหารเที่ยงในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ก่อนที่จะเสด็จไปกรุงเก่าโดยทางรถไฟในบ่ายวันเดียวกันนั้น เพื่อประพาสกรุงเก่าเป็นเวลา ๔ วัน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว โปรดให้ดยุคฯ ทอดพระเนตรเมืองโบราณ และจัดการแสดงถวายทอดพระเนตรที่พระราชวังบางปะอินเป็นการส่งเสด็จในคืนวันที่ ๘ กุมภาพันธ์   ครั้นวันรุ่งขึ้นดยุคฯ และพระชายาพร้อมคณะ เสด็จกลับจากกรุงเก่าโดยทางเรือ และประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปยังปากน้ำ เพื่อโดยสารเรือเดลีเสด็จออกจากราชอาณาจักรสยามเป็นเสร็จการเดินทางมาเยี่ยมราชอาณาจักรสยามของดยุคโยฮันอัลเบิร์ตและพระชายา ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์นี้อีก ๙ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

     เหตุการณ์คราวดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเมกเคลนบวร์กและพระชายาเสด็จเยือนราชอาณาจักรสยามในครั้งนี้ นับเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีการกล่าวถึงในบันทึกของบุคคลร่วมสมัยหลายท่าน อีกทั้งยังมีการบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดลงในพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่นอกเหนือไปจากบันทึกเรื่องราวจากบุคคลต่างๆ และหลักฐานจดหมายเหตุ ตลอดจนหลักฐานชั้นรองอื่นๆ แล้ว ยังคงมีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์จากการมาเยือนของพระราชอาคันตุกะในครั้งนั้น 

     จังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่ดยุคฯ ได้เสด็จเยือนเมื่อ ๑๑๒ ปีมาแล้ว นับเป็นสถานที่หนึ่งที่มีสิ่งอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีสิ่งของ ตลอดจนสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเสด็จเมืองเพชรบุรีของดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเม็คเคลนบวร์ก หรือที่เรียกในเอกสารครั้งนั้นว่า “เจ้า” เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้



ห้องดุ๊ก ถ้ำเขาบันไดอิฐ วัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี

๑.ห้องดุ๊ก ภายในถ้ำวัดเขาบันไดอิฐ 

      ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตและดัชเชสอลิธซาเบธ รอตซาลา พระชายา เสด็จประพาสวัดเขาบันไดอิฐ ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒) ทั้งสองพระองค์ทอดพระเนตรภายในถ้ำของวัดเขาบันไดอิฐแล้ว จึงเสด็จกลับมายังบ้านปืน วัดเขาบันไดอิฐเป้นวัดโบราณแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนเขาบันไดอิฐ ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเพชรบุรี มีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานกล่าวว่า พระภิกษุแสง พระอาจารย์ในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) เป็นผู้สร้างโดยได้สร้างอุโบสถ เจดีย์ และวิหารไว้บนเขา ใกล้กันมีถ้ำซึ่งประกอบด้วยห้องโถงต่างๆ หลายห้อง ลดเลี้ยว สวยงาม มีชื่อเรียก อาทิ ถ้ำประทุน ถ้ำช้างเผือก ถ้ำหว้า ถ้ำตับเต่า เป็นต้น โดยเมื่อเข้าไปภายในประมาณ ๔ ตอนแรก จะเป็นถ้ำซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ถัดเข้าไปเป็นถ้ำประทุน  ซึ่งมีประทุนเรือเก่าแก่ตั้งอยู่หลังหนึ่ง จากถ้ำประทุนมีถ้ำอีกสองห้อง ห้องหนึ่งอยู่ซ้ายมือเรียกถ้ำฤาษี ที่สันนิษฐานว่ามาจากหินก้อนหนึ่งมีสัณฐานคล้ายฤาษีนั่งวิปัสนาอยู่ และห้องทางขวามือ มีตัวอักษรจารึกไว้สองบรรทัด บรรทัดแรก ความว่า “ห้องดุ๊ก” บรรทัดถัดมาความว่า “๒/๑๑/๑๒๘”  ตรงด้านหน้าผนังที่จารึกอักษรดังกล่าวมีแท่นก่ออิฐถือปูนก่อยื่นออกมาจากผนังถ้ำ ถัดเข้าไปทางขวามือจากผนังที่จารึกอักษร มีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดย่อม ตรงกลางห้อง ปัจจุบันมีเจดีย์องค์หนึ่ง และมีพระพุทธรูปตั้งอยู่บนซอกหินสูงประมาณ ๔ เมตรบนผนังทางขวามือ สันนาฐานว่า ซอกหินดังกล่าว เดิมคงจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งดยุคโยฮันอัลเบิร์ต มีศรัทธาจะนำมาประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้ด้วยดังจะกล่าวต่อไป 

 


แท่นสำหรับนั่งพักก่ออิฐถือปูน ในห้องดุ๊ก


จารึกบนผนังถ้ำ เหนือแท่นที่นั่งพัก ในห้องดุ๊ก

๒.พระพุทธรูปเชียงแสน วัดเขาบันไดอิฐ 
     นอกจากการตั้งชื่อห้องหนึ่งในถ้ำวัดเขาบันไดอิฐว่า “ห้องดุ๊ก” เพื่อเป็นที่ระลึกในการมาเยือนเมืองเพชรบุรีของดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแล้ว ในคราวเดียวกันนี้ ดยุคยังมีศรัทธาที่จะนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ในถ้ำดังกล่าวด้วย ปรากฏว่า โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพเลือกหาพระพุทธรูปองค์หนึ่งเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ในห้องดุ๊ก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงจัดหาพระพุทธรูปองค์หนึ่ง พร้อมกับให้จารึกข้อความที่ฐานพระพุทธรูปไว้ด้วย 

     

 

     พระพุทธรูปดังกล่าว เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ศิลปะแบบเชียงแสน ปางสมาธิ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก ประทับขัดสมาธิราบ ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย บนฐานเขียง ขนาดหน้าตัก ๒๑ นิ้ว ความสูง ๓๑ นิ้ว  ที่ฐานชั้นล่างสุด มีข้อความจารึกอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้ามีข้อความเป็นอักษรขอม ซึ่งมีคำแปลในบรรทัดถัดมาว่า “ “ไม่มีสุขแก่ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ” ขณะที่ด้านหลัง มีข้อความภาษาไทย ความว่า

     “พระพุทธปฏิมากรองค์นี้ ดุ๊กโยฮันอัลเบรชต์เมืองเม็กเลนเบิก เจ้าผู้สำเร็จราชการเมืองบรันสวิกสร้างประดิษฐานไว้ในถ้ำเขาบันไดอิฐ เป็นที่รฦกที่ได้เสด็จมาเมืองเพ็ชรบุรีเมื่อ พ,ศ, ๒๔๒๕ ครั้งหนึ่ง แลได้เสด็จมาเมื่อ พ,ศ, ๒๔๕๒ อิกครั้งหนึ่ง ให้จาฤกข้อความ อันเหมือนกันทั้งในพุทธสาสนาแลคริสตสาสนาไว้ที่ฐานพระ เพื่อให้เป็นหิตานุหิตประโยน์แก่บรรดาผู้ที่จะได้มาพบเห็นพระพุทธปฏิมากรนี้ด้วย”

     สันนิษฐานว่า พระพุทธรูปดังกล่าวได้นำมาประดิษฐานไว้ภายหลังการเสด็จของดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ดังเห็นได้จากการใช้ศักราชที่จารึกไว้ที่ฐานที่ใช้พุทธศักราชแล้ว พระปลัดบุญมี ปุญญภาโค เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐรูปปัจจุบันได้กรุณาอธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมพระพุทธรูปเชียงแสน ประดิษฐานไว้ในถ้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม จึงประมาณปี ๒๕๒๐ - ๒๕๒๓ ในสมัยของพระครูโสภณพัฒนกิจ (บุญส่ง ธัมมปาโล) อดีตเจ้าอาวาส ได้ให้อัญเชิญพระพุทธรูปเชียงแสนจากถ้ำห้องดุ๊ก มาประดิษฐานไว้บนบุษบกธรรมาสน์ของเก่า ภายในศาลาการเปรียญจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

๓.หมู่พระที่นั่งบนพระนครคีรี 

     อีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนอนุสรณ์แห่งการมาเยือนของ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเมกเคลนบวร์กได้ คือ พระราชวังพระนครคีรี  ซึ่งเป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนเขามหาสวรรค์ เมืองเพชรบุรี สำหรับใช้เป็นที่ประทับในเวลาเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีและหัวเมืองใกล้เคียง ด้วยทรงพระราชดำริว่า “..เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสเมืองเพชรบุรี ได้ทอดพระเนตรเขามหาสมณ ทรงเห็นว่าเป็นที่สบายชอบกล สมควรจะเป็นที่ประทับได้..” โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้างในพุทธศักราช ๒๔๐๒ 

     สิ่งก่อสร้างสำคัญของพระราชวังพระนครคีรีได้แก่หมู่พระที่นั่ง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดด้านตะวันตกของเขามหาสวรรค์ ประกอบด้วยพระที่นั่ง สถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมจีน และสถาปัตยกรรมไทย เรียงตัวกัน ๓ หลัง ได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ และพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่ง พระตำหนักและอาคารอื่นๆ อีหลายหลัง นอกจากนี้บนยอดกลางและยอดด้านตะวันออก ยังมีพระธาตุจอมเพชร และพุทธสถาน วัดพระแก้วน้อยตั้งอยู่อีกด้วย 

     พระราชวังพระนครคีรี ได้ใช้เป็นที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบเนื่องมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบตลอดรัชกาล ใช้เป็นสถานที่ประกอบการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของเมืองเพชรบุรี รวมถึงใช้เป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเยือนราชอาณาจักรสยาม อาทิ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตแห่งเมกเคลนบวร์ก ซึ่งเสด็จเข้ามาราชอาณาจักรสยามถึง ๒ ครั้ง และได้เสด็จมาเพชรบุรีทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในครั้งหลังเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒) นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสรรพื้นที่ภายในพระที่นั่งขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ประทับของดยุคฯ และพระชายา โดยใช้พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ซึ่งเดิมใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการจัดเป็นห้อง อาทิ ห้องบรรทม  ห้องพระสุธารสชา ห้องเสวย ซึ่งการจัดพื้นที่ภายในพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ในครั้งนั้น ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ สิ่งของได้แก่ เครื่องเรือน ภาชนะต่างๆ และเครื่องประดับตกแต่งภายในพระที่นั่ง ยังคงเก็บรักษาไว้ในพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ในฐานะโบราณวัตถุสำคัญ ที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร 

 

๔.ภาพถ่ายเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และแหล่งอื่นๆ 

     จากการสืบค้นพบว่าในการรับเสด็จดุ๊กโยฮันอัลเบิร์ตแห่ง     เมกเคลนบวร์ก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒) นั้น มีภาพถ่ายเก่าจำนวนหนึ่ง ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แสดงให้เห็นเหตุการณ์สำคัญในคราวนั้น อาทิ การับเสด็จที่ท่าราชวรดิฐ การสวนสนามของทหารในกรุงเทพฯ ที่สนามพระราชวังสวนดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้าในปัจจุบัน) การรับเสด็จที่พระราชวังบางปะอิน กรุงศรีอยุธยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับเสด็จที่เมืองเพชรบุรีในระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ มีภาพถ่ายจำนวนหนึ่งที่เป็นเสมือนอนุสรณ์การมาเยือนเมืองเพชรบุรีในคราวนั้น โดยมีภาพถ่ายสำคัญ ๒ ภาพ ได้แก่


      ภาพดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ดัชเชสอลิธซาเบธ รอตซาลา พระชายา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และพระธิดาคือหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล และหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล รวมถึงคณะผู้ตามเสด็จ ฉายพระรูปร่วมกันขณะประทับม้าบนถนนจากพระนครคีรีมาสู่เขาหลวง มีภาพพระนครคีรีบนเขามหาสวรรค์เป็นฉากหลัง ภาพดังกล่าว ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวเมืองเพชรบุรี นิยมนำมาอัดขยายใส่กรอบ ประดับตามบ้านเรือน ห้างร้านหลายแห่ง และมีผู้เข้าใจผิด คิดว่าเป็นภาพการเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนืองๆ โดยภาพดังกล่าวนี้ มีรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา ความว่า

     “...วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าเสด็จโดยกระบวนรถม้าจากเชิง เสด็จประพาสถ้ำเขาหลวง แล้วถ่ายรูปหมู่ในระหว่างทางถนนรถไฟ...”

     ภาพต่อมา ถ่ายในวันเดียวกันกับภาพแรก โดยถ่ายที่บริเวณอัฒจันทร์ ด้านหน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นภาพของดยุค โยฮันอัลเบิร์ตและดัชเชสอลิธซาเบธ รอตซาลา พระชายา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล พระธิดาในพระเจ้าน้องยาเธอฯ ตลอดจนผู้ตามเสด็จในครั้งนั้น ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่า 

     “..เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง ถ่ายรูปหมู่ที่เชิงอัฒจันทร์พระที่นั่ง เวลาบ่าย ๕ โมงทอดพระเนตรจุดลูกหนูที่พลับพลาเชิงเขาแล้วเสวยน้ำชาที่นั่น...” 



     ผ่านไป ๑๑๒ ปี สถานที่ต่างๆ ตลอดจนสิ่งของในครั้งกระนั้น ยังมีอยู่เสมือนประจักษ์พยานแห่งมิตรภาพระหว่างไทยกับเยอรมันที่แน่นแฟ้นและยืนยาว และเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และค้นหาคำตอบของเรื่องราวต่อไป 

 

  ภาพประกอบ ลิขสิทธิ์เป็นของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1067 ครั้ง)