...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศมาเลเซีย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียน (Workshop on Preservation and Conservation of Manuscripts) วันจันทร์ ที่ ๙ ถึงวันศุกร์ ที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ (รวมระยะเวลา ๑๔ วัน)

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศมาเลเซีย

๑. ชื่อโครงการ

          การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียน (Workshop on Preservation and Conservation of Manuscripts)

๒. วัตถุประสงค์

          ๒.๑ เพื่อให้นักจดหมายเหตุ ภัณฑารักษ์ และบรรณารักษ์ ที่ดูแลเอกสารตัวเขียนมีความรู้และทักษะในการจัดการเอกสารตัวเขียนภายในองค์กร

          ๒.๒ เพื่อให้ผู้ที่ดูแลเอกสารตัวเขียนหรือเอกสารต้นฉบับซึ่งเป็นมรดกของชาติ มีทักษะในการประเมินคุณค่า สืบหาความน่าเชื่อถือของเอกสารนั้น

          ๒.๓ เพิ่มพูนเทคนิคที่ใช้ในการอนุรักษ์และซ่อมแซมเอกสารตัวเขียนให้ดีขึ้น

๓. กำหนดเวลา

          วันจันทร์ ที่ ๙ ถึงวันศุกร์ ที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ (รวมระยะเวลา ๑๔ วัน)

๔. สถานที่

          กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

๕. หน่วยงานผู้จัด

          หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประเทศมาเลเซีย (National Archives of Malaysia)

๖. หน่วยงานสนับสนุน

          ๖.๑ The ASEAN Committee on Culture and Information (ASEAN COCI)

          ๖.๒ กลุ่มแผนงาน โครงการ และวิเทศสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร

๗. คณะผู้แทนไทย

          นางสาววัชราภรณ์ สิทธิวิไล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ

๘. กิจกรรม

          การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียน ประกอบด้วยกิจกรรม ๔ ส่วน ดังนี้

          ๘.๑ การบรรยาย จำนวน ๑๑ หัวข้อ

          ๘.๒ การฝึกปฏิบัติ จำนวน ๓ หัวข้อ

๘.๓ การสนทนากลุ่มและแลกเปลี่ยนความรู้ จำนวน ๓ หัวข้อ

          ๘.๔ การศึกษาดูงาน จำนวน ๔ แห่ง

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

          ๙.๑ การบรรยาย จำนวน ๑๑ หัวข้อ ประกอบด้วย

                   ๑) Archives and Manuscript โดย Ms. Habibah binti Ismail จาก National Archives of Malaysia

                   ลักษณะของเอกสารตัวเขียนและเอกสารจดหมายเหตุ และภาพรวมของกระบวนการดำเนินการ ตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องเอกสารตัวเขียนและเอกสารจดหมายเหตุ การจัดหาเอกสาร การรับมอบ การจัดหมวดหมู่ การอนุรักษ์ และการเข้าถึงเอกสาร โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

คำว่า Manuscript มาจากภาษาละติน Manu – Scriptus หมายถึง การเขียนด้วยมือ

ซึ่งเวลาจะจำแนกความแตกต่างของการเขียนด้วยมือจากสิ่งพิมพ์

ส่วนเอกสารจดหมายเหตุนั้นเกิดได้จากรัฐบาล เอกชน หรือเอกสารส่วนบุคคล (เอกสารตัวเขียน) เช่น จดหมาย บับทึกความทรงจำ รายงาน ภาพถ่าย แผนที่ แบบแปลน ที่มีคุณค่า โดยมีการอนุรักษ์ให้คงเดิม

                   เอกสารตัวเขียนที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุส่วนมากจะอยู่ในลักษณะเอกสารส่วนบุคคล มี ๓ ลักษณะ คือ ลักษณะหรือกลุ่มของเอกสารส่วนบุคคลที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุของบุคคลในครอบครัวหรือองค์กร เช่น หอจดหมายเหตุแห่งชาติมาเลเซียมีเอกสารชุดจดหมายของ Brookes ชุดเอกสารตัวเขียนที่ได้รับมาจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีแผนการประชุมเพื่อพิจารณาเอกสารต้นฉบับเหล่านั้นร่วมกัน และเอกสารตัวเขียนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการค้นคว้าที่ได้รับมอบจากองค์กร

                   ความแตกต่างระหว่างเอกสารตัวเขียนและเอกสารจดหมายเหตุ คือ วัสดุที่ผลิตเอกสาร เครื่องมือช่วยค้น และการจัดเก็บเอกสาร กล่าวคือ เอกสารตัวเขียนนั้นเกิดบนกระดาษโดยเมื่อจัดหมวดหมู่แล้วก็จัดทำบัญชีเอกสารและจัดเก็บในคลัง แต่เอกสารจดหมายเหตุนั้นนอกจากกระดาษแล้ว ยังสามารถผลิตจากวัสดุอื่นๆ เช่น เทป ซีดี คอมพิวเตอร์ และเมื่อจัดหมวดหมู่แล้วสามารถจัดทำเครื่องมือช่วยค้นได้หลายหลายประเภทและจัดเก็บได้ตามความต้องการและเหมาะสม

                   ๒) Collection and Acquisition of Manuscripts: the roles of Dewan Bahasa dan Pustaka in sustaining and uplifting Malay language and literature โดย Mrs. Kamariah binti Abu Samah จาก Dewan Bahasa dan Pustaka

                   หัวข้อการบรรยายนี้อธิบายถึงความหมาย ความสำคัญเอกสารตัวเขียน วิวัฒนาการและปริมาณเอกสารตัวเขียนภาษายาวี ภาษามาเลย์ ที่มีอยู่ในประเทศมาเลเซีย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอกสารตัวเขียน ประวัติความเป็นมา ภารกิจหน้าที่ของ Dewan Bahasa dan Pustaka (The Institute of Language and Literature) และที่สำคัญคือบทบาทของการเป็น The Malay Documentation Center คือ การเก็บรวบรวมและอนุรักษ์เอกสารตัวเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นมรดกของชาติที่มีคุณค่า การดิจิทัลและจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นศูนย์กลางการวิจัยเกี่ยวกับวรรณคดีมาเล โดย Dewan Bahasa dan Pustaka มีโครงการพัฒนาการเรียนรู้ วิจัย ดิจิทัล และเผยแพร่ เพื่อจัดการฐานข้อมูลของเอกสารตัวเขียนและวรรณคดีมาเลย์สำหรับการค้นคว้าและอ้างอิง โดยการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันของห้องสมุด ศูนย์การวิจัย มหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีมาเลย์ เอกสารตัวเขียนภาษามาเลย์และอิสลาม

                   ๓) Cataloguing Manuscript Description โดย Mrs. Effah Imtiaz binti Zainol จาก National Library of Malaysia

The National Centre for Malay Manuscripts เป็นกลุ่มงานหนึ่งภายใต้สังกัดของหอสมุด

แห่งชาติประเทศมาเลเซีย มีหน้าที่ติดตาม รับมอบเอกสารตัวเขียนภาษามาเลย์โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบทั้งจากในและนอกประเทศ อนุรักษ์ ให้บริการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการจัดนิทรรศการเพื่อการประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานจัดทำบัญชีเอกสารตัวเขียนภาษามาเลย์ของ The National Centre for Malay Manuscripts นั้นประกอบด้วย การแยกแยะที่มาของเอกสาร เครื่องหมายหรือการจัดทำตัวเลข ชื่อเรื่อง ผู้เขียน ผู้แต่ง ภาษา สถานที่เขียน วันที่เขียน ลักษณะของเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เนื้อหาหรือสาระสังเขป และการอ้างอิง

                   ๔) Preservation and Conversation of Manuscript: Concept โดย Mr. Friedrich Farid Zink จาก Islamic Arts Museum Malaysia

                   ในการอนุรักษ์และซ่อมแซม สิ่งที่ควรคำนึงมากที่สุดคือ จริยธรรม และมาตรฐาน กล่าวคือ ต้องเคารพในวัตถุ มาตรฐานเดียวของการรักษา ซ่อมแซม คือ คุณค่าเฉพาะของวัตถุชิ้นนั้น ๆ ซึ่งอาจมีชิ้นเดียว การปฏิบัติงานตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุ

                   ๕) Preventive Preservation of Manuscript โดย Mr. Abdul Aziz bin Abd Rashid จาก Museum of Asian Art, University of Malaya

                   เอกสารตัวเขียนใน Museum of Asian Art ของ University of Malaya มีประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของสิ่งของจัดแสดงทั้งหมด เอกสารที่สำคัญคือ เอกสารของ Lord Minto Scroll ซึ่งวิทยากรได้นำมาให้ผู้เข้าร่วมอบรมดูพร้อมกับเอกสารตัวเขียนอื่น

                   ๖) Behind the scenes Islamic Arts Museum Malaysia โดย Ms. Fauziah binti Hashim จาก Islamic Arts Museum Malaysia

                   Islamic Arts Museum Malaysia จัดแสดงนิทรรศการเอกสาร ศิลปวัตถุของชาวมุสลิม และศาสนาอิสลาม ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศิลปะของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการสำหรับการอนุรักษ์ ซ่อมแซมวัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ หนังสัตว์ สิ่งทอ เป็นต้น โดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ โดยนำวิทยาศาสตร์มาเป็นองค์ประกอบในการซ่อมแซม เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือสารเคมีที่เหมาะสม เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกใช้สารเคมี และวัสดุอุปกรณ์อื่นใดในการซ่อมแซม ต้องศึกษาการเสื่อมสภาพ ชำรุดเสียหาย เช่น เอกสาร สามารถเกิดจากสาเหตุทางเคมี ได้แก่ กรด ความสกปรกหมึกและสีย้อมที่ใช้เขียนในกระดาษ และสาเหตุทางชีวภาพ ได้แก่ แมลง และเชื้อรา เพื่อศึกษาแนวทางในการซ่อมแซม และความเหมาะสมมากที่สุดก่อนทำการอนุรักษ์

                   ๗) Digitization of Manuscript as Preservation Technique โดย Mr. S.K. Chong จาก National Library of Malaysia

ก่อนการดิจิไทล์นั้นเอกสารควรได้รับการอนุรักษ์เรียบร้อยแล้ว และเมื่อถึงขั้นตอนการสแกน

สแกนที่ความละเอียด 300 – 400 dpi สแกนสีจริงที่ 24 บิต ขาว – ดำที่ 1 บิต และสีเทา 8 บิต และบันทึกเป็นไฟล์ Raw Tiff และ Jpeg โดยไฟล์ Tiff และ Jpeg ใช้สำหรับแก้ไขต่าง ๆ เช่น แสง สี ความคมชัด ความสว่าง เป็นต้น โปรแกรมที่นิยมใช้แก้ไขในไฟล์ที่เป็น Jpeg คือ PaintShopPro, Adobe Photoshop, ACDsee Photo Editor, Corel PaintShop Pro, Photoshop Element และ PhotoImpact x3 ใส่ลายน้ำก่อนการอัพโหลดและบันทึกข้อมูลลงในเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้บริการ ทั้งนี้ควรจะสำรองข้อมูลไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

                   ๘) Disaster Management Plan โดย Mr. Mohd Nasser bin Malim จาก National Archives of Malaysia

                   ภัยพิบัติไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเท่านั้น ทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งของประชาชนและสาธารณะก็เสียหายไปด้วย ความเสี่ยงจากภัยพิบัติเกิดขึ้นจาก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินสไลด์ ภัยแล้ง ไฟป่า ฝนฟ้าคะนอง พายุโซนร้อน แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น ภัยพิบัติที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ การก่อการร้าย วินาศกรรม โจรกรรม การประท้วง ไวรัสคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ความสามารถในการจัดการหรือรับมือกับภัยที่เกิดขึ้น โดยการใช้ทักษะ องค์ความรู้ และทรัพยากรต่าง ๆ  โดยการเตรียมการรับมือในเบื้องต้นต่อภัยพิบัติและการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติประเทศมาเลเซีย คือ การจัดทำคู่มือ (Handbook of records disaster action plan) การตราไว้ในกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ ระเบียบการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และการเตรียมระบบและอุปกรณ์เพื่อป้องกันภัย

                   ๙) Preservation of Manuscript and Paper – related Artifacts in the Malay Heritage Museum, University Putra Malaysia โดย Mr. Muhammad Pauzi bin Abd Latif จาก University Putra Malaysia

พิพิธภัณฑ์ของ University Putra Malaysia มีการจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของ

มาเลเซีย เช่น บ้านของประเทศมาเลเซียอายุเกือบ ๑๐๐ ปี เอกสาร โบราณวัตถุ เป็นต้น รวมถึงการจัดกิจกรรม workshop และการชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน

                   เอกสารตัวเขียนที่อยู่ในความดูแลของ University Putra Malaysia มีทั้งกระดาษและศิลปวัตถุ มีอายุตั้งแต่ ๙๐ – ๓๐๐ ปี จำนวนเกือบ ๑,๐๐๐ รายการ โดยจำแนกออกเป็น ๑๐ ประเภท ได้แก่ เอกสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือหายาก แผ่นไม้จารึก แผ่นโลหะจารึก พิมพ์หิน aquatint plate และแผนที่ เอกสารเหล่านี้ได้มาจากการซื้อ บริจาค และขอยืม จากบุคคลและสถาบัน องค์กรต่าง ๆ

                   องค์ประกอบที่สำคัญในการควบคุมดูแลเอกสารและศิลปวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ของ University Putra Malaysia คือ อุณหภูมิ ความชื้น แสงไฟ กล่อง และชั้นเก็บ ทั้งนี้ University Putra Malaysia ได้มีการถ่ายภาพ ทำสำเนา สแกน และทำไมโครฟิล์ม เพื่อสำรองข้อมูล และประสานขอความความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติมาเลเซียในการอนุรักษ์เอกสาร

                   ๑๐) Conservation of Manuscript for the National Centre of Manuscript โดย Mr. Wan Hussein bin Wan Ismail จาก National Library of Malaysia

                   กลุ่มอนุรักษ์เอกสาร หอสมุดแห่งชาติมาเลเซีย มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ป้องกัน ซ่อมแซม แก้ไข รักษาเอกสาร โดยมีแนวทางในการอนุรักษ์ คือ ป้องกันการเสื่อมสภาพ การชำรุด ซ่อมแซมในคงสภาพเดิมมากที่สุด (เปลี่ยนแปลงไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซนต์) และยับยั้งความเสียหาย โดยศึกษาจากองค์ประกอบที่ใช้ในการเขียน คือ กระดาษ กระดาษที่มีลายน้ำ หนังสัตว์ ใบลาน ไม้ ไม้ไผ่ หมึกสีต่าง ๆ การอบเอกสารเพื่อกำจัดแมลง รา ที่อยู่ในกระดาษเป็นเวลา ๓ วัน โดยใช้ Thymol (C10H14O) Methyl bromide (CH3Br) Aluminium phosphide (AIP) Paradicholrobenzene (C6H4CI2) การลดกรด การเสริมความแข็งแรงของกระดาษ ข้อความในกระดาษ โดยใช้กระดาษสาที่ได้มาตรฐานและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับเอกสารแต่ละแผ่น

                   ๑๑) Conservation for the Birch-bark Manuscript โดย Mr. Wan Hussein bin Wan Ismail จาก National Library of Malaysia

                   เบิร์ชเป็นไม้เนื้อแข็งที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ประเทศอินเดีย และประเทศอัฟกานิสถาน ในสมัยก่อนพบลายมือที่เขียนบนเปลือกต้นเบิร์ชเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีต้นเบิร์ชจึงนิยมใช้เยื่อจากต้นมัลเบอรี่นำมาทำเป็นกระดาษ  ซึ่งคนไทยเรียกว่ากระดาษสา อย่างไรก็ตามต้นเบิร์ช และต้นมัลเบอรี่นั้นมาจากตระกูลเดียวกัน การอนุรักษ์ ซ่อมแซม ดูแลรักษา จากการชำรุดนั้นกระทำได้คล้ายกัน

๙.๒ การฝึกปฏิบัติ

                   จำนวน ๓ หัวข้อ ประกอบด้วย

                   ๑) Conservation for Paper Based Manuscript

การกรอกแบบฟอร์มการซ่อมแซมเอกสาร พร้อมกับการสำรวจเอกสารก่อนการซ่อมแซม การทดลองซ่อมแซมเอกสาร

                   ๒) Conservation for the Parchment Manuscript

                   การเรียนรู้เกี่ยวกับสารเคมี กระบวนการซ่อมแซม และทดลองซ่อมแซม

                   ๓) Manuscript Box (Book Cover)

                   ทดลองทำกล่องสำหรับใส่หนังสือ

  

๙.๓ การสนทนากลุ่มและแลกเปลี่ยนความรู้

                   จำนวน ๓ หัวข้อ ประกอบด้วย

                   ๑) Issues and Challenge in Preservation and Conservation of Manuscript

                   ๒) Comparison Study of Preservation and Conservation of Manuscript Based on visits to National Library of Malaysia and Islamic Arts Museum Malaysia

                   ๓) Knowledge Sharing on Preservation and Conservation of Manuscript with National Archives of Malaysia


๙.๔ การศึกษาดูงาน

                   จำนวน ๔ แห่ง ประกอบด้วย

                   ๑) National Library of Malaysia ศึกษาดูงาน National Centre of Manuscript ประกอบด้วย ห้องบริการเอกสารตัวเขียน และConservation Laboratory

                   ๒) Islamic Arts Museum Malaysia ศึกษาดูงานห้องจัดแสดงนิทรรศการ และConservation Laboratory

                   ๓) National Archives of Malaysia ศึกษาดูงาน Digitization Laboratory และConservation Laboratory

                   ๔) Al-Azim Mosque ศึกษาดูงาน the Collection of Malay Manuscript

๑๐. ข้อเสนอแนะ

          ๑๐.๑ กิจกรรมเป็นการบรรยาย สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ และการฝึกปฏิบัติ จึงจำเป็นต้องกำหนดบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ แต่เนื่องด้วยผู้จัดงานได้เปลี่ยนหัวข้อการอบรมกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนผู้แทนเข้าร่วมให้ตรงกับหัวข้อการอบรมได้ทันเวลา

          ๑๐.๒ การอนุรักษ์และซ่อมแซมเอกสารของแต่ละประเทศมีเทคนิคที่แตกต่างกัน ประเทศไทยอาจนำเทคนิคของประเทศต่าง ๆ มาทดลองปฏิบัติเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์ที่ดีและเหมาะสมที่สุด

          ๑๐.๓ การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งถือเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ แต่ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการอนุรักษ์ เช่น กระดาษ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลมีราคาสูง จึงควรสนับสนุนงบประมาณในด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อคงให้เอกสารสำคัญของชาติมีอายุที่ยาวนาน

          ๑๐.๔ ควรสนับสนุนให้บุคลากรในสายงานจดหมายเหตุเรียนรู้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและศัพท์เทคนิคที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เมื่อมีการเข้าร่วมการอบรมหรือสัมมนา

          ๑๐.๕ ควรสนับสนุนให้บุคลากรในสายงานจดหมายเหตุเข้าร่วมการอบรมหรือสัมมนาทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และกล้าแสดงออกในเวทีระดับโลก

 

(จำนวนผู้เข้าชม 742 ครั้ง)