...

ว่าด้วยเรื่องของฝาย (ตอนจบ)
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ว่าด้วยเรื่องของฝาย (ตอนจบ) --
 การมีฝายตามลำน้ำต่างๆ มิใช่การควบคุมน้ำแต่หน้าฝายเท่านั้น หากยังดูแลท้ายฝายด้วย แล้วท้ายฝายมีอะไร?
 ท้ายฝาย คือลำน้ำตามธรรมชาติ อาจเป็นห้วย บึงใหญ่มีทางระบายไปสู่คลอง ซึ่งมีการปรับปรุง ปรับแต่ง ให้เป็นระบบบังคับตามที่ฝายถูกออกแบบไว้
 ปี 2519 งานบูรณะแหล่งน้ำและก่อสร้าง กรมประมง ได้ออกแบบรูปตัดคลองระบายน้ำท้ายฝายน้ำล้น ห้วยสกึ๋น หนองหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อปรับระดับคลองระบายน้ำให้ได้มาตรฐาน
 จากแบบแปลน สังเกตได้ว่า แนวดินของเดิมกับระดับพื้นคลองมีความลาดชันเป็นรูปตัว (V) ทั้ง 2 ข้าง แล้วความลาดชันนี้ต้องรองรับปริมาณน้ำได้ไม่ให้ไหลเอ่อขึ้นท่วมพื้นที่ข้างบน
 แต่อย่างไรก็ตาม แบบแปลนไม่ระบุวัสดุก่อสร้างว่า พื้นคลองกับแนวลาดชันเป็นคอนกรีตหรือดินธรรมชาติดังเดิม รวมทั้งความลาดของพื้นคลอง (ความเอียง) เพื่อบังคับน้ำให้ไหลเป็นอย่างไร เพราะหากพื้นคลองไม่มีความลาด เป็นแนวระนาบเดียวตลอด น้ำก็จะไหลช้าลงเท่านั้น
 แบบแปลนเกี่ยวกับฝายดังได้แสดงมาทั้ง 2 ตอนนี้ ส่วนใหญ่จะมีเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับเหมาก่อสร้างที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อแบบแปลนได้รับการประเมินคุณค่าเป็นเอกสารจดหมายเหตุแล้ว แบบแปลนจึงมีความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้า เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สะท้อนกิจกรรมที่มันถูกผลิตขึ้น แงล้วนำมาสู่การเรียนรู้ ซึ่งอย่างน้อยเรื่องของ " ฝาย " ทำให้เราเห็นความสำคัญต่อการจัดการน้ำได้ดียิ่ง.
ผู้เขียน : นายธานินทร์ ทิพยางค์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ผจ (2) กษ 1/2 แบบรูปตัดคลองระบายน้ำท้ายฝายน้ำล้นห้วยสกึ๋น หนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย [26 ก.พ. 2519]
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ

(จำนวนผู้เข้าชม 666 ครั้ง)