...

วันหยุดเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
















-- องค์ความรู้ -- 
 วันหยุดเมื่อร้อยกว่าปีก่อน 
            วันหยุด คือวันเว้นว่างจากการทำงานหรือวันพักผ่อน นอกจากวันเสาร์และอาทิตย์แล้ว ราชการจะประกาศวันหยุดเทศกาลตามวาระแห่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
 หากในอดีตคนไทยมีวันหยุดอะไรบ้าง แล้วใครยังต้องทำงานอีกรึไม่ ?
 จากเอกสารจดหมายเหตุของสำนักงานปกครองจังหวัดสุโขทัย เรื่องรวมระเบียบคำสั่งต่างๆ นั้น มีประกาศวันหยุดราชการเพราะเหตุต่างๆ ประจำ พ.ศ.๒๔๕๙ จำนวน ๗ ครั้ง รวม ๔๐ วัน ได้แก่
        ๑. พิธีตรุษสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มี.ค. - ๑๕ เม.ย. รวม ๑๙ วัน
 ๒. วิสาขบูชา ตั้งแต่วันที่ ๑๕ - ๑๗ พ.ค. รวม ๓ วัน
 ๓. เข้าปุริมพรรษา ตั้งแต่วันที่ ๑๓ - ๑๙ ก.ค. รวม ๗ วัน
 ๔. ทำบุญพระบรมอัฐิพระพุทธเจ้าหลวง วันที่ ๒๓ ต.ค. รวม ๑ วัน
 ๕. ทำบุญพระอัฐิ แล พระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ ๙ - ๑๒ พ.ย. รวม ๔ วัน
 ๖. เฉลิมพระชนม์พรรษา ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธ.ค. - ๓ ม.ค. รวม ๕ วัน
 ๗. มาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต วันที่ ๖ ก.พ. รวม ๑ วัน
        แต่กระนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติราชการ จึงมีระเบียบเพิ่มเติม คือ 
        " ..... ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกน่าที่ผลัดเปลี่ยนกันมารักษาราชการ ..... จะทิ้งการไว้ให้คั่งค้างหรือให้เสียราชการโดยอ้างว่าเปนเวลาหยุดราชการนั้นไม่ได้ "
 และ " ถ้าเปนเวลามีราชการฉุกเฉินที่จำเปนจะต้องทำในระหว่างวันหยุดราชการ ก็จำเปนจะต้องทำให้แล้วอย่าให้เสียราชการได้ ..... "
         สรุปว่า เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน ประเทศไทยมีวันหยุดราชการ " ยาวนาน " หากรัฐบาลไม่ทอดทิ้งภาระงานให้หยุดชะงักไปด้วย ใครมีหน้าที่สำคัญและจำเป็นก็ต้องมาทำให้เรียบร้อย
 มีข้อสังเกตเรื่องหนึ่ง สาเหตุที่ประกาศให้พิธีตรุษสงกรานต์หยุดนานถึง ๑๙ วันนั้น เพราะสมัยก่อนวันตรุษสงกรานต์ คือ วันขึ้นปีใหม่ของประเทศ หาใช่วันที่ ๑ ม.ค. อย่างปัจจุบันไม่ ฉะนั้นปีใหม่ทั้งทีย่อมพิเศษไม่ธรรมดา
ผู้เขียน : นายธานินทร์  ทิพยางค์  ( นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ พะเยา )
เอกสารอ้างอิง : หจช.พะเยา.  เอกสารจังหวัดสุโขทัย  สำนักงานปกครองจังหวัด  สท 1.2.2 / 1 เรื่องรวมระเบียบคำสั่งต่างๆ  ( 6 มี.ค. 2446 - 24 ก.พ. 2502 )

(จำนวนผู้เข้าชม 549 ครั้ง)