...

นาคปักสองสมัย ณ ปราสาทพนมรุ้ง

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เรื่อง : นาคปักสองสมัย ณ ปราสาทพนมรุ้ง

นาคปัก เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม สำหรับประดับที่มุมประธานของชั้นหลังคาปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณ นาคปักถูกพัฒนามาจาก ปราสาทจำลองซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยเมืองพระนครยุคแรกหรือช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็น นาคปัก ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เช่น นาคปักที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก นาคปักที่ปราสาทบากอง นาคปักที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา นาคปักที่ปรางค์น้อย นาคปักที่ปราสาทประธานพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

จากการศึกษาเรื่อง การกลายรูปจากอาคารจำลอง-นาคปัก-บรรพแถลง ของปราสาทในศิลปะขอมมาเป็นกลีบขนุนของปรางค์ในศิลปะไทยของ สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล สันนิษฐานว่าการปรับเปลี่ยนจากปราสาทจำลองไปเป็นนาคปัก เป็นการเปลี่ยนแปลงจากแรงบันดาลใจของช่าง โดยอาจเป็นข้อจำกัดทางด้านเทคนิคการสร้างและรูปทรงของปราสาท ช่างจึงจำเป็นต้องคิดหารายละเอียดของส่วนประดับมาช่วยให้มีความงาม ความสมส่วนลงตัว เพื่อลบพื้นที่ว่างระหว่างชั้นหลังคา และนาคปักยังสื่อความหมายถึงสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ได้เช่นเดิม

สำหรับที่ปราสาทพนมรุ้งซึ่งมีอายุสมัยการสร้างและใช้พื้นที่ประมาณ ๔๐๐ ปี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ พบรูปแบบนาคปักถึงสองสมัยด้วยกัน ได้แก่

๑) นาคปักศิลปะแบบบาปวน ที่ ปรางค์น้อย อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ลักษณะเป็นพญานาคห้าเศียรในกรอบสามเหลี่ยม ส่วนเศียรโล้น นาคตัวกลางคายพวงอุบะ ตัวนาคปักเอนสอบไปทางด้านหลังเข้าหาตัวปราสาทเล็กน้อย

๒) นาคปักศิลปะแบบนครวัด ที่ ปราสาทประธาน อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลักษณะเป็นพญานาคห้าเศียรอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมมีมงกุฎครอบทับอีกชั้นหนึ่ง ตัวนาคไม่ได้ตั้งฉากกับตัวอาคาร แต่ทำมุมเอียงลาดไปด้านหลังเข้าหาตัวปราสาท ทำให้เส้นโครงกรอบของชั้นหลังคาเป็นวงโค้งทรงพุ่ม

ล่าสุดจากการขุดค้นโบราณคดีปราสาทพนมรุ้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา บริเวณหลุมขุดค้นที่ ๔ (TP.4) ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมประเภท นาคปัก ด้านบนชำรุดหักหาย มีการสลักลวดลายเหมือนลำตัวพญานาค จึงสันนิษฐานว่าเป็น โกลนนาคปักที่ยังสลักไม่เสร็จเมื่อเปรียบเทียบพบว่าโกลนนาคปักชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายกับนาคปักที่ปรางค์น้อย คือ มีฐานสองชั้นไม่มีลวดลาย มุมด้านหนึ่งมีรอยแตกซึ่งเป็นร่องรอยการคายพวงอุบะของนาค

จึงสันนิษฐานว่า โกลนนาคปักชิ้นนี้ ช่างในสมัยโบราณคงมีเจตนาทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนประกอบชั้นหลังคาของปรางค์น้อย โดยอาจจะสลักไม่เสร็จหรือหรือเกิดความเสียหายในระหว่างการทำจึงไม่ได้นำขึ้นไปประดับไว้ด้านบนของปรางค์น้อย ปัจจุบันโกลนนาคปักชิ้นนี้เก็บรักษาอยู่ที่บริเวณปรางค์น้อยนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เอกสารอ้างอิง :

สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล. การกลายรูปจากอาคารจำลอง-นาคปัก-บรรพแถลงของปราสาทในศิลปะขอมมาเป็นกลีบขนุนของปรางค์ในศิลปะไทย.สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1085 ครั้ง)