...

เพลงที่ใช้ในการประกอบการแสดงโขนในการตรวจพล
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง เพลงที่ใช้ในการประกอบการแสดงโขนในการตรวจพล
เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนมีอยู่ด้วยกัน ๒ลักษณะ คือเพลงที่ใช้บรรเลง - ขับร้อง ตามกิริยาอารมณ์ของผู้แสดงโขนและเพลงที่ใช้บรรเลงเฉพาะเครื่องดนตรีอย่างเดียวสำหรับเพลงที่บรรเลงประกอบการแสดงโขนในการตรวจพลนั้นจะใช้เพลงที่บรรเลงเฉพาะเครื่องดนตรีอย่างเดียวเป็นเพลงประเภทเพลงกราวได้แก่เพลงกราวในและเพลงกราวนอก
เพลงกราวในใช้สำหรับประกอบการตรวจพลและการเคลื่อนทัพของฝ่ายลงกาหรือกองทัพยักษ์เพลงกราวในเป็นเพลงมีทำนองไปในทางเสียงต่ำหรือที่เรียกว่า “ทางใน” มีเสียงกังวานกว้าง ทำนองและจังหวะของไม้กลองที่มีความห่างและหนักแน่น ให้ความรู้สึกแกร่งกล้าและดุดันเป็นเพลงลำดับที่ ๑๓ในเพลงชุดโหมโรงเย็นและเป็นเพลงลำดับแรกของเพลงชุดโหมโรงกลางวัน
เพลงกราวนอกใช้สำหรับประกอบการตรวจพลและการเคลื่อนทัพของฝ่ายพลับพลาหรือกองทัพพระรามซึ่งประกอบด้วยวานรและมนุษย์โครงสร้างของเพลงกราวนอกประกอบด้วยเพลงต้นกราวนอก ตัวกราวนอก และสร้อยกราวนอกเป็นเพลงที่มีทำนองไปในทางเสียงสูงหรือที่เรียกว่า “ทางนอก” จังหวะไม้กลองที่ค่อนข้างกระชั้น ให้ความรู้สึกฮึกเหิม สง่างาม แต่ให้ความว่องไว นอกจากนี้เพลงกราวนอกยังเป็นเพลงประจำกัณฑ์ที่๑๑ คือ กัณฑ์มหาราช
สำหรับการบรรเลงเพลงกราวในและเพลงกราวนอกในการตรวจพลนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการบรรเลงนั้นคือ “การออกเพลง”เนื่องจากความยาวของเพลงอาจไม่เพียงพอต่อกระบวนท่าในการตรวจพลและเคลื่อนทัพการออกเพลงในการตรวจพลในฝ่ายของกองทัพยักษ์จะใช้เพลงอัตราจังหวะสองชั้นแต่ใช้หน้าทับเพลงกราวเช่นเดิมเป็นลักษณะการเพิ่มความยาวให้สอดคล้องกับกระบวนท่าในการตรวจพล ได้แก่ เพลงมอญรำดาบ เพลงพญาลำพองเป็นต้น
สำหรับการออกเพลงในการตรวจพลในฝ่ายพลับพลานั้นก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกับฝ่ายลงกาแต่สำหรับฝ่ายพลับพลานั้นจะนิยมบรรเลงออกในเพลงกราวนอกเพราะเนื่องจากว่าเพลงกราวนอกมีความยาวมากกว่าเพลงกราวในสามารถบรรเลงออกได้ตามความเหมาะสมแต่บางครั้งก็สามารถบรรเลงเพลงออกได้เช่นกันก่อนจะออก “เพลงกราวพระ”ซึ่งเป็นชื่อเรียกการตรวจพลของพระรามและพระลักษมณ์ที่นิยมบรรเลงมีอยู่ ๒ เพลงได้แก่เพลงจีนไส้หู้และเพลงขับนกโดยจะถอดแนวการบรรเลงให้ช้าลงและจากนั้นจะมีการบรรเลงออกเพลงเร็วและจึงเข้ากระบวนเพลงกราวนอกเช่นเดิม
อนึ่งในการบรรเลงออกเพลงในกลุ่มเพลง“วรเชษฐ์”ซึ่งเป็นลักษณะเพลงเร็วเช่นเพลงค้างคาวกินกล้วยหรือเพลงอัตราจังหวะชั้นเดียวในเพลงเถาเช่นเพลงแสนคำนึงชั้นเดียวการบรรเลงนั้นจะมีตะโพนตีกำกับหน้าทับเพียงอย่างเดียวโดยใช้หน้าทับเฉพาะจึงนิยมเรียกว่า “การเล่นตะโพน”จังหวะของตะโพนที่ตีให้ความรู้สึกถึงความเข้มแข็งความฮึกเฮิมซึ่งต่อมาจึงเรียกทำนองที่ตีเล่นตะโพนว่า“ป๊ะเท่งป๊ะ”โดยเป็นที่หมายรู้ระหว่างผู้ที่บรรเลงและผู้แสดง นอกจากนี้ยังมี“โกร่ง” ทำหน้าที่ตีให้จังหวะ ทำให้เกิดความหนักแน่น มีความรู้สึกเร่งเร้าและอึกครึกโครมซึ่งใช้เฉพาะตอนยกทัพของทั้งฝ่ายพลับพลาและฝ่ายลงกา
สำหรับการบรรเลงประกอบการแสดงโขนในการตรวจพลแต่ละครั้งนั้นอาจมีการการปรับเปลี่ยนลดหรือเพิ่มการออกเพลงได้ตามความเหมาะสมของการแสดง การบรรเลงประกอบการแสดงโขนในการตรวจพลจึงถือว่าเป็นการบรรเลงที่สำคัญอย่างหนึ่งการออกเพลงในการประกอบการแสดงการตรวจพลนั้น ผู้บรรเลงระนาดเอกถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนเพลงจากเพลงหนึ่งไปเพลงหนึ่ง เพราะเนื่องจากว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนเพลงแต่ละครั้ง จะต้องมีการคำนึงถึงของระดับเสียงที่บรรเลงอยู่ในขณะนั้นว่ามีความเชื่อมโยงและสอดคล้องดีหรือไม่
นอกจากนี้ต้องมีความรู้เรื่องกลุ่มเพลงที่จะใช้ออกเพลงต่างๆด้วยเพื่อให้เหมาะสมกับตัวแสดงซึ่งผู้บรรเลงต้องมีความรู้ความเข้าใจมีประสบการณ์ในการออกเพลงทั้งยังเป็นการสร้างอรรถรสให้แก่ผู้ที่ได้รับชมในด้านของความยิ่งใหญ่ ความสง่างาม ของกองทัพแต่ละกองทัพด้วย
เรียบเรียง : นายสุกิตติ์ ทำบุญ นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
บรรณานุกรม
จรัญพูลลาภ. นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔.
ไชยยะ ทางมีศรี. ผู้ชำนาญการด้านดนตรีไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔.
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 1917 ครั้ง)