...

งาช้างดำ


















สวัสดีค่ะ พบกันอีกเช่นเคยกับ #องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน วันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ "งาช้างดำ" ซึ่งเป็นโบราณวัตถุคู่บ้านคู่เมืองน่าน และเป็นโบราณวัตถุชิ้นเด่นที่สำคัญซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน กล่าวได้ว่าหากใครได้มาเยือนเมืองน่านแล้วไม่ได้แวะมาเยี่ยมชมงาช้างดำถือว่ามาไม่ถึงเมืองน่านนะคะ ดังจะเห็นความสำคัญที่ปรากฏในคำขวัญจังหวัดน่านที่ว่า "แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง"
--- งาช้างดำ เดิมเป็นสมบัติของเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่รักษาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งยังคงอยู่คู่กับหอคำ หรืออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน มาจนถึงปัจจุบัน
--- ลักษณะเป็นงาปลี (งาที่มีความยาวไม่มากนัก แต่มีวงรอบขนาดใหญ่) สีน้ำตาลเข้ม มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ถอดความเป็นภาษาไทยว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" ขนาดของงาช้างดำยาว ๙๗ เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนที่กว้างที่สุดได้ ๔๗ เซนติเมตร มีโพรงตอนโคนลึก ๑๔ เซนติเมตร มีน้ำหนัก ๑๘ กิโลกรัม 
--- จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า เป็นงาช้างตันที่ถูกถอดมาจากตัวช้าง โดยช้างเจ้าของงาน่าจะมีอายุ ๖๐ ปี สันนิษฐานว่าเป็นงาช้างข้างซ้าย เพราะมีรอยเสียดสีกับงวงชัดเจน
--- อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่างาช้างดำกิ่งนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร แต่มีตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับงาช้างดำ ดังนี้
--- ตำนานที่ ๑ กล่าวว่าพญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองเมืองพุทธศักราช ๑๘๙๖ - ๑๙๐๖) ได้ทำพิธีสาปแช่งให้งาช้างดำกิ่งนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ในพุทธศักราช ๒๔๗๔ เจ้านายบุตรหลานจึงได้มอบงาช้างดำให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
--- ตำนานที่ ๒ กล่าวว่าในสมัยเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ (ครองเมือง พ.ศ.๒๓๕๓ - ๒๓๖๘) มีพรานคนเมืองน่านเข้าป่าล่าสัตว์ไปถึงเขตแดนระหว่างไทยกับเชียงตุง ได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายอยู่ในห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วย พรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละกิ่ง ต่างคนต่างก็นำมาถวายเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุงได้ส่งสารมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า ตราบใดที้งาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป
--- ตำนานที่ ๓ กล่าวว่ากองทัพเมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน  ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อน โหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่าเป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกกันอยู่ จึงได้นำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่าน แล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป
--- ส่วนฐานที่เป็นครุฑแบกรับงาช้างอยู่นั้น ทำจากไม้สักทั้งท่อน สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๒๔๖๙ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีข่าวว่าเจ้าเมืองทางเหนือบางเมืองแข็งข้อก่อกบฏ เจ้าเมืองน่านจึงให้ทำครุฑขึ้นมาแบกงาช้างดำ วัตถุคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า นครน่านยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไม่เสื่อมคลาย
เอกสารอ้างอิง
- กรมศิลปากร. เมืองน่าน โบราณคดีประวัติศาสตร์ และศิลปะ, ๒๕๓๗.
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน. มรดกท้องถิ่นน่าน เล่มที่ ๔ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ. น่าน: องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 12415 ครั้ง)