...

การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๔
การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๔
         จากที่ตั้งของอาณาจักรล้านนาที่อยู่ระหว่างเส้นทางการค้าของดินแดนในแถบพม่า จีน ลาว รวมถึงสุโขทัย และอยุธยา จึงมีพ่อค้ากลุ่มต่างๆ เดินทางมาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอยู่เสมอ จึงมีการนำยังใช้เงินตราจากดินแดนข้างเคียงเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า นอกเหนือจากเงินตราที่ผลิตขึ้นใช้เองในล้านนา
เงินฮ้อย เงินลาด เงินลาดฮ้อย 
         เป็นเงินตราที่อาณาจักรล้านช้างผลิตขึ้นใช้ สันนิษฐานว่าเริ่มใช้มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ตัวเงินมีการตอกประทับตราสัญลักษณ์ของอาณาจักรเช่น ตราช้าง ดอกไม้ ดอกพิกุล งู ตัวเลข ตัวหนังสือ เป็นต้น ในช่วงปีพ.ศ. ๒๐๘๙-๒๐๙๐ ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จจากล้านช้างมาปกครองเชียงใหม่ ได้มีการประทับตราอักษร หม ลงบนเงินฮ้อยของล้านช้างด้วย
         เงินฮ้อย มีลักษณะเป็นแท่งโลหะตันรูปร่างคล้ายเรือชะล่าหรือกระสวยทอผ้า หัวท้ายเรียว ด้านบนของเงินฮ้อยมีตุ่มทั่วไปเป็นท้องบุ้งส่วนด้านล่างเรียบ ทำจากโลหะเงิน เจือด้วยทองแดงเล็กน้อย แบ่งออกเป็น ๓ ชนิดตามสัดส่วนของเนื้อเงินที่ผสมอยู่
         เงินลาด ทำจากโลหะทองลงหิน เคลือบผิวด้วยโลหะเงิน รูปร่างคล้ายเงินฮ้อยแต่เรียวเล็กกว่า มี ๓ ขนาด ไม่มีตุ่มที่ตัวเงิน แต่มีการประทับตรารูปจักร ช้าง เต่า ปลา และดอกไม้ จากการผลิตที่มีการเคลือบโลหะเงินที่ประณีต มีรูปร่าง ขนาด น้ำหนัก มีตราประทับที่ได้มาตรฐาน จึงเชื่อได้ว่าเป็นเงินตราที่ผลิตจากโรงกษาปณ์หลวง เงินลาดเป็นเงินปลีกที่มีราคาต่ำเนื่องจากทำด้วยโลหะผสม
         เงินลาดฮ้อย ทำจากทองแดงหรือทองเหลือง ลักษณะเหมือนเรือชะล่าและเรือขุด ไม่มีการประทับตราหรือทำลวดลายลงบนตัวเงิน มีมูลค่าต่ำสุดในท้องตลาดโดยมีค่าตามน้ำหนักของโลหะที่หล่อขึ้น ประชาชนที่มีโลหะ ทองแดง ทองเหลือง สามารถหล่อขึ้นใช้เองได้ จึงมีขนาดต่างกันไปตามปริมาณและน้ำหนักของโลหะที่ใช้หล่อ และมีความประณีตในการผลิตต่างกันมาก
เอกสารอ้างอิง
เงินตราล้านนา : นวรัตน์ เลขะกุล/ธนาคารแห่งประเทศไทย นพบุรีการพิมพ์ เชียงใหม่, ๒๕๕๕
เงินตราล้านนาและผ้าไท : ธนาคารแห่งประเทศไทย อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๓
เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ : นวรัตน์ เลขะกุล สนพ.สารคดี, ๒๕๔๗
เงินฮ้อย มีลักษณะเป็นแท่งโลหะตันรูปร่างคล้ายเรือชะล่าหรือกระสวยทอผ้า หัวท้ายเรียว ด้านบนของเงินฮ้อยมีตุ่มทั่วไปเป็นท้องบุ้งส่วนด้านล่างเรียบ ทำจากโลหะเงิน เจือด้วยทองแดงเล็กน้อยเงินลาดฮ้อย ทำจากทองแดงหรือทองเหลือง ลักษณะเหมือนเรือชะล่าและเรือขุด ไม่มีการประทับตราหรือทำลวดลายลงบนตัวเงิน มีมูลค่าต่ำสุดในท้องตลาดโดยมีค่าตามน้ำหนักของโลหะที่หล่อขึ้น ประชาชนที่มีโลหะ ทองแดง ทองเหลือง สามารถหล่อขึ้นใช้เองได้ จึงมีขนาดต่างกันไปตามปริมาณและน้ำหนักของโลหะที่ใช้หล่อ และมีความประณีตในการผลิตต่างกันมาก




(จำนวนผู้เข้าชม 1848 ครั้ง)