...

การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๑ ตาชั่ง ตาชู
การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๑
การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของคนในอดีต เริ่มจากการนำผลิตผลที่มีมาแลกเปลี่ยนกัน ต่อมาจึงเริ่มนำวัตถุมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เช่น หอยเบี้ย เกลือ ต่อมาเมื่อมีการค้นพบโลหะทองแดงได้มีการนำทองแดงมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ด้วยคุณสมบัติที่คงทนสามารถตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ได้น้ำหนักตามที่ต้องการโดยยังคงคุณสมบัติเหมือนกันทุกก้อนและสามารถนำมาหลอมรวมกันได้โดยคุณสมบัติไม่เปลี่ยนแปลง และยังพกพาสะดวก ต่อมามีการนำโลหะเงินหรือทองซึ่งหายากและสวยงามกว่ามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน 
 มีการกำหนดพิกัดราคาตามน้ำหนักมาตรฐานของก้อนโลหะ และสิ่งที่นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยโลหะที่นำมาแลกเปลี่ยนกันนี้ภายหลังพัฒนามาเป็นเงินตราประเภทต่างๆ
 ในอดีตทางตอนเหนือของไทยมีการชำระหนี้หรือการจ่ายค่าสินค้าตามน้ำหนักโดยตัดจากก้อนโลหะหรือเงินตรา โดยเรียกเศษเงินที่ตัดจนเป็นชิ้นเล็กๆ นี้ว่า เงินมุ่น
 เพื่อให้ได้น้ำหนักโลหะตามที่ต้องการ จึงต้องคิดค้นวิธีการชั่งน้ำหนักขึ้น ตาชั่งในอดีตมี 2 แบบ
 ตาเต็ง หรือตาชั่งจีน ลักษณะเป็นคานมีจานสำหรับวางหรือตะขอสำหรับแขวนสิ่งของที่ต้องการชั่งน้ำหนัก แล้วใช้การเลื่อนลูกชั่งไปมาบนคานชั่งด้านตรงข้ามจนได้ดุล ตาชั่งแบบนี้เป็นทิ่นิยมทางตะวันออก
        ตาชู ลักษณะเป็นคานแล้วผูกหรือวางสิ่งของที่ต้องการทราบน้ำหนักไว้ด้านหนึ่งแล้วใช้ ลูกชั่ง ซึ่งเป็นก้อนหินหรือก้อนโลหะที่กำหนดน้ำหนักมาตรฐานไว้แล้วผูกหรือวางไว้อีกด้านของคาน การชั่งน้ำหนักแบบนี้ต้องเตรียมลูกชั่งขนาดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบน้ำหนักกับสิ่งของที่ต้องการทราบน้ำหนัก ตาชั่งแบบนี้แพร่หลายเข้ามาพร้อมการค้าของพ่อค้าชาวตะวันตก เช่น กรีก โรมัน อาหรับ อินเดีย นิยมใช้กันมากในพม่าและล้านนา มีการทำลูกชั่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ





(จำนวนผู้เข้าชม 1326 ครั้ง)