...

แหล่งเตาบ่อสวก ตอนที่ ๑ แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเมืองน่าน
องค์ความรู้ทางวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เรื่อง "แหล่งเตาบ่อสวก ตอนที่ ๑ แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเมืองน่าน"
แหล่งเตาบ่อสวก ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ห่างจากตัวเมืองน่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สำคัญของเมืองน่านในสมัยโบราณ สภาพพื้นที่บริเวณที่พบเตาเผาส่วนมากมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ได้แก่  ลำน้ำสวก ห้วยปวน พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วทั้งผิวดิน ปล่องเตาและหลังเตามักโผล่ให้เห็นบนผิวดินเพียงเล็กน้อย มีทั้งที่พบอยู่บริเวณบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และเขตป่าชุมชนของหมู่บ้าน เช่น บ้านบ่อสวก ดงปู่ฮ่อ บ้านหนองโต้ม และเพี้ยงหม้อ เป็นต้น
คำว่า “บ่อสวก” มีที่มาจากสองความหมาย คือ
๑. “สวก” ในภาษาพูดของชาวลั๊วะ หมายถึง เกลือ และบริเวณชุมชน มีบ่อเกลือ จำนวน ๒ บ่อ คือ บ่อเกลือเหนือ และบ่อเกลือใต้ จึงเรียกขาน บ่อเกลือ ว่า บ่อสวก
๒. “สวก” แปลว่า ดุร้าย เนื่องจากมีเรื่องเล่าและตำนานความเชื่อเกี่ยวกับความดุร้ายของผีที่เฝ้าบ่อเกลือ ว่าหากผู้ใดลบหลู่สถานที่บ่อเกลือ จะเจ็บไข้ได้ป่วยและมีอันเป็นไป
ในพงศาวดารเมืองน่าน ได้กล่าวถีง “บ้านเตาไหแช่เลียง” ว่าเป็นที่พักของเจ้าอินต๊ะแก่นท้าว(พ.ศ. ๑๙๗๖) ในคราวที่ถูกเจ้าแปง และเจ้าพ่อพรม พระอนุชาเป็นขบถชิงเมืองน่าน มีข้อสันนิษฐานว่า บ้านเตาไหแช่เลียง อาจเป็นการตั้งชื่อหมู่บ้าน ที่บ่งบอกถึงลักษณะเด่นของพื้นที่นั้นๆ คำว่า “เตาไห”  อาจหมายถึงหมู่บ้านที่มีเตาเผาผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทไหเป็นหลัก และ คำว่า “แช่เลียง” อาจเป็นไปได้ว่าผู้คนบริเวณนี้แต่ดั้งเดิมส่วนหนึ่งอาจอพยพย้ายถิ่นมาจากเมืองแช่เลียง เมื่อพิจารณาประกอบกับพื้นที่บริเวณบ้านบ่อสวกซึ่งมีการสำรวจและขุดค้นพบแหล่งเตาผลิตเครื่องปั้นดินเผากระจายตัวอยู่หลายแห่ง จึงอาจมีความเป็นไปได้ว่า บ้านเตาไหแช่เลียง ที่ปรากฏนามอยู่ในพงศาวดารเมืองน่าน อาจหมายถึง แหล่งเตาบ่อสวก
แหล่งเตาบ่อสวก ได้รับการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร จากการสำรวจสันนิษฐานว่ามีเตาเผาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๕๐ เตา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ รองศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ได้ทำการสำรวจและศึกษาเพิ่มเติม พบว่ามีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาโบราณอยู่ในเขตตำบลบ่อสวกอีกหลายหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบ่อสวกหมู่ที่ ๑ บ้านบ่อสวกพัฒนาหมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองโต้มหมู่ที่ ๘ และบ้านเชียงยืนหมู่ที่ ๔ จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๕๒ จึงได้มีการสำรวจและขุดค้นเพื่อศึกษาแหล่งเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวกเพิ่มเติม
ลักษณะเตาบ่อสวก เป็นเตาดินก่อระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น (Single-chamber kiln: above-ground cross-draught type with clay-structure) โครงสร้างเตาประกอบด้วย ห้องไฟ (fire-box) สำหรับวางเชื้อเพลิง, ห้องภาชนะ (pot chamber) สำหรับวางเครื่องปั้นดินเผา และปล่องเตา (chimney) สำหรับระบายความร้อนในการเผา
ปัจจุบันแหล่งเตาบริเวณบ้านบ่อสวกที่ได้มีการขุดค้นและเปิดให้เข้าชม มี ๓  พื้นที่  ได้แก่
๑. แหล่งเตาในพื้นที่พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ประกอบด้วย เตาสุนัน เตาจ่ามนัส เตาเฮือนบ้านสวกแสนชื่น ๑ และเตาเฮือนบ้านสวกแสนชื่น ๒
๒. เตาดงปู่ฮ่อ
๓. เตาบ้านหนองโต้ม ๑ และ ๒
--- เตาสุนัน ตั้งอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๖.๕๐ เมตร ลักษณะภายในห้องไฟและช่องใส่ไฟมีเศษภาชนะดินเผาแตกหักเสียหายและก้อนดินโครงสร้างเตาทับถมอยู่หนาแน่น บริเวณฐานรองปล่องเตาเผาสุนัน ภายหลังได้มีการพบขวานหินกะเทาะไม่มีบ่าจำนวน ๒ ชิ้น
--- เตาจ่ามนัส ตั้งอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากเตาสุนันไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๒.๕๐ เมตร มีขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๖.๕๐ เมตร  แผนผังเตาเป็นรูปคล้ายเรือ มีร่องรอยการก่อซ่อมและปรับปรุงส่วนปล่องเตาและช่องใส่ไฟ พบโครงสร้างปล่องเตาก่อซ้อนกันสองชั้น
--- เตาเฮือนบ้านสวกแสนชื่น ๑  ตั้งอยู่บริเวณไหล่เนินลาดลงไปสู่ลำน้ำสวก เป็นเตาเผาขนาดเล็ก มีขนาดกว้าง ๑.๘๐ เมตร ยาว ๔.๕๐ เมตร ปล่องไฟมีเส้นผ่านศูนย์กลางวงนอกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ผนังปล่องเตาหนา ๒๐ เซนติเมตร
--- เตาเฮือนบ้านสวกแสนชื่น ๒ เป็นเตาเผาขนาดเล็ก ปัจจุบันขุดเปิดเพียงครึ่งเตาตามแนวยาว เนื่องจากเตาเผาอีกส่วนอยู่นอกพื้นที่กรรมสิทธิ์ของพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น มีขนาดกว้าง ๑.๔๐ เมตร ยาว ๕.๒๐ เมตร ปล่องไฟมีเส้นผ่านศูนย์กลางรอบนอกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ผนังปล่องเตาหนา ๒๐ เซนติเมตร
--- เตาดงปู่ฮ่อ พบจำนวน ๒ เตา เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จำนวน ๑ เตา และกลบดินคืนจำนวน ๑ เตา โดยดำเนินการขุดค้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ลักษณะเตาดงปู่ฮ่อเป็นเตาเผาก่อดินขนาดเล็ก มีขนาดความกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๖.๕๐ เมตร นอกจากพบเตาเผาโบราณบริเวณดงปู่ฮ่อแล้วยังมีการขุดพบภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกและซากโบราณสถานก่ออิฐอีกด้วย
--- เตาบ้านหนองโต้ม ๑ มีขนาดกว้าง ๑.๗ เมตร ยาว ๖ เมตร พบเศษภาชนะดินเผาทับถมหนาแน่นทั้งสองข้างเตา ลักษณะของช่องใส่ไฟแคบและเตี้ย สันนิษฐานว่าการนำภาชนะเข้าไปเรียงในเตาเผาและการนำภาชนะที่ผ่านการเผาเสร็จสมบูรณ์แล้วออกมาจากเตา น่าจะใช้วิธีการเจาะเปิดหลังคาเตา และเมื่อต้องการใช้งานเตาเผาครั้งต่อไปจะใช้ดินโบกยาปิด ทำเช่นนี้สลับกันไป
--- เตาบ้านหนองโต้ม ๒ มีขนาดกว้าง ๑.๗๒ เมตร ยาว ๔.๗ เมตร ส่วนปล่องเตาและหลังเตาโครงสร้างเตาถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ จากการขุดค้นพบว่าแหล่งเตาบ้านหนองโต้ม ๒ ปรากฏส่วนผนังเตาด้านทิศใต้สองชั้น เป็นไปได้ว่าอาจมีการซ่อมแซมและปรับปรุงเตาเผาเกิดขึ้นในระหว่างการใช้งาน
เอกสารอ้างอิง 
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. โบราณคดีชุมชนที่เมืองน่าน. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีชุมชน, ๒๕๔๓.
สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. คู่มือประกอบกิจกรรมสร้างเครือข่ายเพื่อบริหารจัดการเตาเผาโบราณตำบลบ่อสวก, ๒๕๕๕.
สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่. สังเขปประวัติศาสตร์และโบราณคดีจังหวัดน่าน ฉบับคู่มือ อส.มศ.
>>> โปรดติดตามองค์ความรู้ทางวิชาการตอนต่อไป เกี่ยวกับแหล่งเตาบ่อสวก  ตอนที่ ๒... เอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาเมืองน่าน
ทางเพจ Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน นะคะ










































(จำนวนผู้เข้าชม 3254 ครั้ง)