To Top

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

RECOVER TOGETHER STEP FORWARD




 

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา โดยทรงพระกรุณาพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งแสดงที่อาคารวิจัยและบริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 และต่อมาพระวรวงศ์เธอ องค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ เมื่อวันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ.2533

 

 

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโครงการซึ่งริเริ่มโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 สืบเนื่องจากการที่ทางคณะฯได้ดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามทางชาติพันธุ์และทางโบราณคดี ที่บ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ จ.อุดรธานี นำโดย รศ. สุมิตร ปิติพัฒน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515-2517 ในช่วงระยะเวลาต่อมา ในปี พ.ศ.2530 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมาก จาก ดร.วินิจ วินิจนัยภาค คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินการขอตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากรัฐบาล และในระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้เปิดจัดแสดงโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมต่างๆ ณ บริเวณชั้น 2 อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ในช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง ปี พ.ศ. 2539

จนถึงปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งมอบโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดให้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นผู้ดูแล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจึงได้ดำเนินการรวบรวมและขนย้ายโบราณวัตถุและ วัตถุทางวัฒนธรรม ทั้งในส่วนซึ่งคณะสะสมอยู่ และในส่วนซึ่งได้รับบริจาคเพิ่มเติมภายหลัง มาจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ในปี พ.ศ. 2550 อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้จัดทำโครงการนำร่องนิทรรศการ “เครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย: จากบ้านเชียงสู่กรุงรัตนโกสินทร์” สะท้อนการดำเนินชีวิต ความเชื่อ และการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อให้บริการแก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นกิจกรรมเสริมทักษะในสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม และโรงเรียนมัธยมอื่นๆ ในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบน

ปี พ.ศ.2554 หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ปิดปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพใหม่ มุ่งหมายให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้น โดยสร้างทางลาดยาวตัดข้ามพื้นที่โล่งเพื่อเชื่อมโยงการใช้งานภายในอาคารให้ต่อเนื่องถึงกัน และเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงวัตถุของพิพิธภัณฑ์ฯ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ชีวิตของวัตถุที่เชื่อมโยงไปสู่โลกนอกพิพิธภัณฑ์

 

 

พิพิธภัณฑ์ฯ มีพันธกิจในการจัดแสดงวัตถุเพื่อการศึกษาค้นคว้า เอื้อให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรมและมุ่งไปสู่การความเข้าใจมนุษยชาติและกลุ่มบุคคล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อโลก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 พิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดนิทรรศการหลากหลายเรื่องราวที่สะท้อนสังคมวัฒนธรรมผ่านวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ฯ ไม่ว่าจะเป็น

ปี 2560 นิทรรศการ “พิพิธภัณฑ์กับพระราชา” เนื่องในโอกาสครอบรอบ 30 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ นิทรรศการ “คนกับของ”

ปี 2561 นิทรรศการ “แสง สิ่งของ กับการการมองเห็น: ภาพถ่ายสิ่งของจากภาคสนามและการทำความเข้าใจคนอื่น”

ปี 2562 นิทรรศการ “คลื่นไหวภายใต้โดม การเป็นส่วนหนึ่งและการเคลื่อนย้ายในวัฒนธรรมมุสลิม”, นิทรรศการ “ทุ่งรังสิต: จากสมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษาและเหี้ย” และนิทรรศการ “สู่ขวัญข้าว เจ้าแม่โพสพ”

ปี 2563 นิทรรศการ “I think The Old Days Are Really Gone ภาพวูบไหวในคำเล่าของเมืองเชียงใหม่” และนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย: หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม”

พร้อมกันนี้ปี 2561 พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับรางวัลชนะเลิศ Museum Thailand Awards 2018 (พิพิธภัณฑ์ด้านวัฒนธรรม) ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือมิวเซียมสยาม

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการศึกษาในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสถาบันความรู้ที่เปิดให้เป็นทางเลือกของการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อเนื่อง นับจากวัยเด็กถึงหลังเกษียณอายุ และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมชนรอบข้างและสังคมไทย

 

Please enter the world of ‘things’ to understand ‘people’.ขอเชื้อเชิญให้เข้ามาในโลกของ “สิ่งของ” เพื่อทำความเข้าใจ “ผู้คน”

 

ช่องทางการติดต่อ
พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
99 ม.18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 02-6966610 และ 02-6966612

Facebook: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
Website: https://museum.socanth.tu.ac.th/