To Top

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

RECOVER TOGETHER STEP FORWARD




 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เป็นพิพิธภัณฑสถาน ประเภทศิลปะสมัยใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นโดย กรมศิลปากร ในวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย โดยได้รับมอบอาคารโรงกษาปณ์สิทธิการจากกรมธนารักษ์ ในปี พ.ศ.2517 เพื่อจัดตั้งเป็น “หอศิลปแห่งชาติ” วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรม ประเภททัศนศิลป์สำคัญ ทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะไทยประเพณีและร่วมสมัย

 

 

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในอดีต คือ โรงกษาปณ์สิทธิการแห่งที่ 3 ซึ่งสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นสถานที่ผลิตเงินเหรียญแห่งใหม่ที่มีความทันสมัย โดยเลือกใช้พื้นที่บริเวณริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้วัดชนะสงคราม ซึ่งเดิมเป็นอานาเขตของวังหน้า (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)

โรงงานกษาปณ์สิทธิการเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มดำเนินการผลิตเหรียญครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ใช้งานเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2511 กรมธนารักษ์จึงได้ย้ายไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.2521

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2520 ในเวลาต่อมา หอศิลปแห่งชาติ ได้ทำการปิดปรับปรุงอีกครั้ง และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2521 และในคราวเดียวกันนี้ ได้เปลี่ยนชื่อจาก “หอศิลปแห่งชาติ” เป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป”