To Top

พิพิธภัณฑ์คัดสรร

ของดี ของเด่น ของดัง ของสำคัญและเรื่องราว ที่พิพิธภัณฑ์คัดสรรมานำเสนอ

ภาชนะดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง

ภาชนะดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง

ภาชนะดินเผา ทรงสูง ปากผายเล็กน้อย คอตั้งสูง ก้นมน-แหลม ผิวเคลือบน้ำเคลือบ เขียนสีเป็นลายลูกคลื่น ลายเส้นตรง และลายวงกลมในช่องสี่เหลี่ยม บริเวณก้นภาชนะไม่ได้เขียนสี ถือเป็นภาชนะดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยกลาง (สำริด-เหล็กตอนต้น) ประมาณ 3,000-2,300 ปีมาแล้ว

ภาชนะดินเผาบ้านเชียงสมัยกลาง เป็นสมัยที่มีการตกแต่งด้วยการขูด-ขีดผสมการเขียนสีลวดลาย ที่พบเด่นชัดมักเขียนขึ้นบริเวณใต้คอและไหล่ของภาชนะ โดยการขูดให้เป็นลายคู่ขนานระหว่างพื้นที่ทั้งสอง ส่วน ทําให้เกิดพื้นที่ว่างตรงกลาง แล้วลงสีบริเวณที่ว่างทําให้เกิดลวดลาย ซึ่งเกิดขึ้นเพราะน้ําหนักของสีแดง ทึบเป็นตัวคัดภาพให้เด่นขึ้นมา ตอนปลายของสมัยกลางเริ่มพบการตกแต่งด้วยการทาสีแดงที่บริเวณปาก ภาชนะ

 

เชี่ยนหมากถมทอง

 

เชี่ยนหมากถมทอง

เชี่ยนหมาก คือภาชนะสำหรับใส่หมากพลูและเครื่องกินหมากหรือที่เรียกว่า เครื่องเชี่ยน ประกอบไปด้วย เต้าปูน ซองหมาก อับยาฉุนยาจืด ตลับสีผึ้ง ตะบันหมาก กรรไกรหนีบมาก

ส่วนที่เรียกว่า เชี่ยนหมากถมทอง เพราะลักษณะกรรมวิถีการผลิต ถือเป็นศิลปหัตถกรรมชั้นสูงของงานประณีตศิลป์ของไทย กล่าวคือ ช่างถมจะดำเนินการถมดำภาชนะแล้วเขียนลายเป็นสีทอง ขั้นตอนการทำทองจะมีความซับซ้อนโดยช่างถมทองจะละลายทองคำในปรอทให้เหลวเป็นน้ำ จากนั้นจะชุบน้ำทองผสมปรอทด้วยพู่กัน แล้วเขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน การเขียนน้ำทองละลายปรอทจะต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก และต้องเขียนทับลงบนเส้นสีเงินเท่านั้น เมื่อเขียนเสร็จจะใช้ความร้อนไล่ปรอทออกจากทอง ทองจะติดพื้นภาชนะแน่น

 

เชี่ยนหมากพื้นเมือง (อีสาน)

 

เชี่ยนหมากพื้นเมือง (อีสาน)

เชี่ยนหมากในอีสาน เรียกได้หลายอย่าง เช่น เซี่ยนหมาก เฆี่ยนหมาก และขันหมาก ตามภาษาเฉพาะแต่ละท้องถิ่น ซึ่งหมายความถึงภาชนะกล่องไม้ที่มีไว้ใส่หมากพลู ลักษณะเชี่ยนหมากทางอีสาน จะมีทั้งเชี่ยนหมากแบบกล่องตัวผู้ เชี่ยนหมากแบบกล่องตัวเมีย และเชี่ยนหมากแบบแอวขันปากพาน ซึ่งเชี่ยนหมากของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นเชี่ยนหมากแบบแอวขันปากพาน รูปทรงของเชี่ยนหมากจะประกอบไปด้วย 4 ส่วน

 

      1) ปากหรือส่วนบนสุด แบ่งช่องเป็น 3 ช่อง ช่องใหญ่ 1 ช่อง และช่องเล็ก 2 ช่อง ใช้ใส่เครื่องหมาก เช่น ตะบันหมาก ครกตำหมาก กรรไกรหนีบหมาก เต้าปูน ตลับใส่ยาเส้น

      2) ลำตัว หรือด้านข้างของเชี่ยนหมากเป็นจุดเด่นในการแสดงลวดลาย ซึ่งลวดลายที่ปรากฏคือ ลายประแจจีน มีลายฟันปลาเป็นขอบ 2 ชั้น

      3) เอว คือส่วนที่เชื่อมระหว่าง ส่วนลำตัว และ ขา ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ

      4) ขา มีการเจาะเป็นช่อง และสลักลายเป็นรูปกากบาท และเราขาคณิต มีลายฟันปลาเป็นขอบ 2 ชั้น

 

เชี่ยนหมากชิ้นนี้มีรอยทาสีแดงจากรักน้ำเกลี้ยง แต่ลบเลือนไปเกือบหมด และมีความพิเศษ คือ ใต้เชี่ยนมีการเจาะใส่ล้อที่ทำด้วยไม้กลึง 4 ล้อ สำหรับเลื่อน

สามารถดูภาพถ่ายวัตถุสามมิติ 360 องศาได้ที่ shorturl.asia/eyEBT

 

ดาวเพดาน

 

ดาวเพดาน

ดาวเพดาน ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เป็นส่วนหนึ่งของเพดานโบสถ์ วิหาร ธรรมาสน์หรือซุ้มปรางค์

ดาวเพดานชิ้นนี้ ประกอบขึ้นด้วยพื้นไม้ทาสีแดงชาด ลงลวดลายสีเหลืองทองและประดับกระจกสีเป็นรูปดอกบัวบาน ลักษณะการสร้างดาวเพดานได้สะท้อนให้เห็นฝีมือและความคิดของช่าง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นจินตนาการของมนุษย์ที่มีต่อ “จักรวาล” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่ที่สุดในความคิดคำนึงเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการถึงได้

ดาวเพดานเป็นวัตถุในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่ได้รับมอบมาจาก ดร.วินิจ และคุณหญิงพรรณี วินัยนิจภาค และได้รับการอนุรักษ์โดยเสร็จสมบูรณ์จากกลุ่มช่างฝีมือในวัง (ชาย) โดยการนำของอาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม เมื่อ พ.ศ. 2559

กระบวนการอนุรักษ์ เริ่มต้นด้วยการสำรวจสภาพก่อนการอนุรักษ์และบันทึกภาพเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำเปล่าเพื่อทำความสะอาดตลอดทั้งพื้นที่ที่เป็นไม้และกระจก จากนั้นเสริมความแข็งแรงของดาวเพดาน โดยต่อเติมส่วนที่สูญหายและชำรุดไปทั้งในส่วนของกลีบบัวและดอกประดับโดยใช้ไม้ แต่ไม่มีการประดับกระจกเพิ่มเติม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงทาสีเพื่อให้กลมกลืนกับของเดิม จากนั้นทำความสะอาดทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งโดยใช้สำลี (ชุบอะซิโตน) และใช้น้ำยาเคมี (กาวพารารอย) ที่ช่วยรักษาเนื้อไม้ กระจกและทองคำเปลวเคลืบดาวเพดานไว้ทั้งหมด

 

ธรรมาสน์ไม้ วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

 

ธรรมาสน์ไม้ วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

หนึ่งในมรดกวัฒนธรรมสำคัญ ที่อยู่ในความดูแลรักษาของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้รับมอบธรรมาสน์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 โดยความเห็นชอบจากพระครูพัชรกิจสุนทร (ประหยัด อภิสมาจาโร) เจ้าอาวาสวัดท่าศาลาราม ร่วมกับคณะกรรมการวัดเพื่อให้ดำเนินการอนุรักษ์ให้สมบูรณ์และจัดแสดงเป็นการถาวรที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเป็นตัวอย่างของงานช่างไม้เมืองเพชรบุรีเพื่อการศึกษาและวิจัย

ธรรมาสน์ไม้เมืองเพชร มีการสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นเดียวกับงานศิลปกรรมแขนงอื่นๆ ในเมืองเพชร ไม่ว่าจะเป็นงานปูนปั้น งานเมรุมาศ หรืองานเขียนแบบ เหตุที่มีผู้นิยมสร้างธรรมาสน์ไม้เพราะถือกันว่าถือเป็นของเชิดหน้าชูตา ผู้สร้างจะได้บุญมาก เนื่องจากเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใช้เพื่อการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งผู้อุปถัมป์การสร้างและช่างผู้สร้างต่างทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์และเชิงช่างเพื่อฝากศรัทธาและฝีมือไว้กับพระพุทธศาสนา

ธรรมาสน์ไม้เมืองเพชรนั้น จำแนกรูปแบบการสร้างตามขนบแต่ละกลุ่มช่างหลักๆ ตามวัดใหญ่ในเมืองเพชร ได้ 4 กลุ่มช่าง คือ กลุ่มช่างวัดพระทรง กลุ่มช่างวัดเกาะ กลุ่มช่างวัดยาง และกลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย แต่ละกลุ่มช่างต่างมีขนบลวดลายที่เป็นลักษณะเฉพาะ

ธรรมาสน์ไม้ วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี หลังนี้ ในแง่รูปทรงศิลปกรรมพบว่ามีลักษณะพิเศษต่างจากขนบของธรรมาสน์ทั่วไปที่พบในเมืองเพชรบุรี กล่าวคือ มีโครงสร้างและลักษณะแบบศิลปะตะวันตกทั้งหลัง ส่วนลวดลายมีตัวยักษ์แบบฝรั่ง คิวปิด ตัวเชอรัป และลูกเล่นลวดลายแบบท้องถิ่นผสม ถือเป็นธรรมาสน์ที่แหวกแนวและฉีกขนบชิ้นหนึ่ง ธรรมาสน์หลังนี้มีฝีมือใกล้เคียงกับลักษณะการสร้างสรรค์ผลงานของกลุ่มช่างวัดพลับพลาชัยมากที่สุด เนื่องจากสีที่ใช้ ลวดลาย แม่ลาย และรสนิยมทางศิลปะแบบตะวันตก ถือเป็นลักษณะที่ช่างวัดพลับพลาชัยนิยมทำกัน ตัวอย่างที่สามารถเทียบเคียงได้ เช่น ลายแกะสลักประดับศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย และศาลาการเปรียญวัดทองนพคุณ รวมถึง หอระฆังวัดชีว์ประเสริฐ ที่มีรูปร่างและรูปแบบที่คล้ายคลึงกับธรรมาสน์หลังนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ที่วัดพลับพลาชัย ยังมีเมรุถาวรแห่งแรกของเมืองเพชรบุรี สร้างใน พ.ศ. 2490 ออกแบบและสร้างโดยช่างกลุ่มวัดพลับพลาชัย มีรูปประติมากรรมปูนปั้นตัวเทวดาจำพวก คิวปิด และเชอรัป ซึ่งคล้ายกับลวดลายธรรมาสน์ไม้ วัดท่าศาลารามเป็นอย่างมาก และจากการศึกษาวิจัย สันนิษฐานว่าธรรมาสน์หลังนี้ น่าจะสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2460-2474

ธรรมาสน์ไม้ วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ได้รับอนุรักษ์ให้คืนกลับสภาพเดิมมากที่สุด ด้วยฝีมือของช่างเมืองเพชร คือช่างรุ่งฟ้า ตาละลักษณ์ และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ทั้งเป็นการเผยแพร่ศิลปกรรมงานช่างไม้เมืองเพชรให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในวงกว้างต่อไป