To Top

พิพิธภัณฑ์คัดสรร

ของดี ของเด่น ของดัง ของสำคัญและเรื่องราว ที่พิพิธภัณฑ์คัดสรรมานำเสนอ

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทม์ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีพระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง จากรูปแบบศิลปะกำหนดอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – พุทธศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา โดยสร้างขึ้นตามตำนานที่ปรากฏในนิทานพระพุทธสิหิงค์ แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ในระหว่าง พ.ศ. 1945 - 1985 กล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์สร้างโดยพระมหากษัตริย์กรุงลังกา เมื่อสร้างขึ้นแล้วเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยโปรดให้พญาสิริธรรมนคร ผู้ปกครองเมืองสิริธรรมนครหรือนครศรีธรรมราชแต่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา จึงได้พระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานสักการบูชาสืบเนื่องมาจนกระทั่งกรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลง พระพุทธสิหิงค์ได้ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายแห่ง ได้แก่ พิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปีพุทธศักราช 2205 ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 105 ปีจนถึงพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สันนิษฐานว่า พระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญกลับไปเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงยกทัพไปเชียงใหม่ จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อพุทธศักราช 2338 พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือของชาวกรุงเทพฯ มาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆปี จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ เป็นองค์ประธานในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน

 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ส่วนองค์ท่อนบนของพระโพธิสัตว์ ยืนเอียงพระวรกาย ทรงศิราภรณ์ ส่วนยอดของชฎามกุฎหักหายไป พระพักตร์มน พระขนงเป็นสันนูนโค้งด้านบนเป็นร่อง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์จีบ พระเนตรเหลือบต่ำ สวมสร้อยประคำและกรองศอ พระอังสาด้านซ้ายคล้องผ้าเฉวียงบ่า และ คล้องทับด้วยสายยัชโญปวีตมีหัวกวางประดับ สายมงคลซึ่งมีหัวกวางประดับอยู่นั้นเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บอกให้ทราบว่าประติมากรรมนี้คือรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระกรด้านขวาตั้งแต่พระพาหาหักหายไป ส่วนพระกรซ้ายยังคงเหลือ ส่วนต้นพระพาหาสวมพาหุรัด ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบประดับบนประติมากรรม พระอคัสตยะ จากจันทิบานอนในศิลปะชวาภาคกลาง พระวรกายท่อนล่างชำรุดหายไป

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นรูปเคารพของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน เชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้คุ้มครองชาวโลกทั้งปวง รูปเคารพนี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงเวลา 1,200 – 1,250 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่า รูปเคารพนี้อาจเป็นองค์เดียวกับพระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณิ ที่กล่าวถึงในจารึกจาก วัดเวียง เรื่อง พระเจ้าธรรมเสตะสร้างปราสาทอิฐ 3 หลัง เพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ คือ พระโพธิสัตว์ปัทมาปาณิ และพระโพธิสัตว์ผู้ถือดอกบัวนี้ ทรงเป็นบุคลาฐิษฐานของอุบาย ที่นำไปสู่ปัญญาเพื่อบรรลุพุทธภาวะ มีสองกร พระหัตถ์ขวาประทานพร พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัว เป็นรูปแบบหนึ่งของ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีผู้นับถืออย่างมาก ทั้งในศาสนาพุทธแบบมหายาน และวัชรยาน ซึ่งเคารพนับถืออยู่ในชวาภาคกลางในราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้ กับราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง

 

ศิลาจารึกหลักที่ 1  หรือ  ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ศิลาจารึกทรงสี่เหลี่ยมยอดมน เป็นจารึกหลักแรกที่ใช้อักษรไทยบันทึกภาษาไทยบนหลักหินทั้ง 4 ด้าน ด้านที่ 4 ตอนหนึ่งจารึกว่า “...เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี 1205 ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหง หาใคร่ใจในใจ แล่ใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้...” อักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ขึ้นใช้เรียก “ลายสือไทย” มีลักษณะแตกต่างไปจากอักษรขอมและอักษรมอญที่ใช้กันมาแต่เดิม ลักษณะสำคัญคือเป็นตัวอักษรที่ลากขึ้นลงเป็นเส้นตรง รูปอักษรอยู่ในทรงเหลี่ยม เรียกว่าอักษรเหลี่ยม การเขียนเริ่มต้นจากหัวอักษร ลากเส้นสืบต่อกันไปโดยไม่ต้องยกเครื่องมือเขียนขึ้น วางรูปสระอยู่ในบรรทัดเดียวกับรูปพยัญชนะ และมีเครื่องหมายวรรณยุกต์ เอก และ โท ใช้ประกอบการเขียนเพื่อให้อ่านได้ครบตามเสียงในภาษาไทย

ศิลาจารึกหลักนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นหลักฐานที่ทรงคุณค่าทางด้านต่างๆ คือ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เนื้อความที่จารึกแบ่งออกเป็น 3 ตอน ตอนแรกเป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตอนที่สองพรรณนารายละเอียดของสุโขทัย ทั้งในสภาพภูมิศาสตร์ การปกครองและสังคม ตอนที่สามกล่าวถึงพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์อักษรไทยและการขยายพระราชอาณาเขต ข้อความที่ปรากฏได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ความอุดมสมบูรณ์ สิทธิและเสรีภาพของผู้คน ความเชื่อและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัย ศิลาจารึกหลักนี้มีคุณค่าความสำคัญอันแสดงภูมิปัญญาสูงล้ำของมนุษยชาติที่ควรจดจำ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงประกาศให้อยู่ในบัญชีมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546

 

ตู้พระธรรมลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวาย

 

ตู้พระธรรมลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวาย

ตู้ทรงสี่เหลี่ยมฐานสิงห์ ประดับลายรดน้ำ 3 ด้าน ด้านหน้าและด้านขวาตกแต่งลายตอนล่างเป็นภาพสิงห์เคล้ากระหนกครุฑคาบ ออกเถาหัวนาค ตอนบนเป็นภาพกิ่งไม้ ดอกไม้ มีนก แมว แมลง กระรอก ประกอบภาพ ด้านซ้ายตู้มีลายตอนล่างเป็นม้ามังกรเคล้ากระหนกครุฑคาบ ออกเถาหัวนาค ตอนบนเป็นภาพกิ่งไม้ดอกไม้ มีนก แมลง กระรอก ประกอบภาพ ขอบตู้บนและขอบล่างจำหลักลายลูกฟักปิดทองประดับกระจก

ตู้พระธรรมลายรดน้ำหลังนี้ เป็นฝีมือบรมครูวัดเซิงหวาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีลวดลายประณีตสวยงามเป็นเลิศ ซึ่งเป็นแบบฉบับการผูกลายกระหนกเปลวที่อ่อนช้อย ดุจเปลวเพลิงต้องลม สอดประสานกับภาพสรรพสัตว์ และเครือเถาไม้ดอกอย่างวิจิตรตระการตา

 

พระมหาพิชัยราชรถ

 

พระมหาพิชัยราชรถ

พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ฐานบุษบกมีชั้นเกรินลดหลั่นกัน 5 ชั้น พนมของเกรินแต่ละชั้นด้านหน้าประดับไม้จำหลักเป็นรูปศีรษะนาคประกอบลายกระหนกเปลว สำหรับอัญเชิญพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมศพสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชเทวี สมเด็จพระบวรราชเจ้า สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

พระมหาพิชัยราชรถ น้ำหนัก 13.70 ตัน ใต้ฐานเกรินชั้นที่ 1 มีห่วงด้านละ 4 ห่วง สำหรับคล้องเชือกที่ใช้ฉุดชักราชรถทำด้วยเชือกมนิลาหุ้มผ้าแดง ด้านหน้า 4 สาย พลชักลากสายละ 43 นาย ด้านหลัง 2 สาย พลฉุดสายละ 22 นาย และมีผู้ควบคุม 5 นาย รวมใช้จำนวนพลฉุดชักลากทั้งสิ้นรวม จำนวน 216 คน