To Top

พิพิธภัณฑ์คัดสรร

ของดี ของเด่น ของดัง ของสำคัญและเรื่องราว ที่พิพิธภัณฑ์คัดสรรมานำเสนอ

นิทรรศการออนไลน์

นิทรรศการออนไลน์

นิทรรศการออนไลน์ที่เกิดจากการร่วมมือของ Google และหอภาพยนตร์ จัดทำคอลเลคชั่นและนิทรรศการออนไลน์ในแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Google Art & Culture

โดยภายในแพลตฟอร์มนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการอาศัยเครื่องมือของทาง google ให้ช่วยในการเข้าถึงเนื้อหา ข้อมูล ของพิพิธภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Museum virtual view ที่สามารถมองเห็นภายในพิพิธภัณฑ์ได้แบบ 360 องศา หรือจัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ด้วยภาพถ่ายพร้อมเนื้อหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าชมคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงเตรียมเนื้อหาฉบับภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ

ฟังก์ชั่นใหม่ของ Google Art & Culture ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ Stories หรือการเล่าเรื่อง ที่สามารถให้พิพิธภัณฑ์หรือหน่วยงาน สามารถจัดนิทรรศการออนไลน์บนแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างอิสระ โดยการดึงเอาวัตถุจัดแสดงที่อยู่ในคอลเลคชั่นของหน่วยงานเอง หรือสามารถยืมคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์แห่งอื่น มาจัดเรียงเรื่องราวให้กลายเป็นนิทรรศการขึ้นมาได้ นอกจากนั้นเรายังสามารถแปลงนิทรรศการชั่วคราวที่จัดจากสถานที่จริง ขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ และจัดเก็บอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ถึงแม้ว่าตัวนิทรรศการจริงๆจะหมดอายุในการจัดแสดงไปแล้ว แต่นิทรรศการออนไลน์ก็ยังคงอยู่

โดย Stories ใหม่ที่จัดแสดงภายในปีนี้ของหอภาพยนตร์ บนแพลตฟอร์ม Google Art & Culture คือ นิทรรศการยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว และ มิตรศึกษา โดยนิทรรศการมิตรศึกษา เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดแสดงเมื่อ 8 ตุลาคม 2563 ถึง 30 พฤษภาคม 2564
ฉบับเต็มเข้าชมได้ที่ https://artsandculture.google.com/partner/thai-film-archive

 

นิทรรศการภาพค้างติดตา

 

นิทรรศการภาพค้างติดตา Persistence of Visions

นิทรรศการที่เกิดขึ้นจากคำถามของเด็ก ๆ ที่แวะเวียนมาที่หอภาพยนตร์ว่า “ภาพยนตร์เกิดขึ้นได้ยังไง?” หอภาพยนตร์จึงพยายามนำคำอธิบายเหล่านั้นมาประมวลและถ่ายทอดออกมาเป็นชุดนิทรรศการที่เหมาะกับเด็กวัย 6-12 ปี ในรูปแบบที่น้อง ๆ จะได้เห็น ได้ลอง ได้เล่น และเรียนรู้ด้วยตัวเอง นำชมโดย “ติ๊ดต้า” มาสคอตตัวเอกของชุดนิทรรศการผู้มีหลายแขนหลายตา เพราะเกิดจากภาพที่ซ้อนกัน มาพร้อมกับผู้ช่วยของเขา “มามอง” แมงมุมเจ็ดตัวเจ็ดสี และเหล่าแมงมุมน้อย “ดูดู” ที่จะคอยตั้งคำถามและพาทุกคนเข้าไปผจญภัยในโลกแห่งจินตนาการที่ชื่อว่า ดินแดนภาพค้างติดตา โดยเดินทางทะลุมิติเวลาไปสู่อดีตในยุคต่าง ๆ

นิทรรศการจะไล่เรียงมาตั้งแต่ห้อง “มองถ้ำ” ที่ย้อนกลับไปเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ ได้สังเกตและเกิดความความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เห็นภาพปรากฏบนพื้นผนังถ้ำมืดมิดที่เกิดจากแสงลอดช่องรูเล็ก ๆ เข้ามาในถ้ำ แต่ไม่มีความรู้ที่จะอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดหรือเพราะอะไรจึงเห็นปรากฏการณ์เหล่านั้นได้ หรือแม้แต่เมื่อได้ไปพบเจอเหตุการณ์อะไรมาก็ตาม เช่น เห็นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของสัตว์ป่า การไล่ล่าที่น่าตื่นเต้น และอยากจะเล่าหรือบันทึกไว้ สิ่งที่มนุษย์ในยุคนั้นพอจะทำได้คือ การวาดเรื่องราวหรือเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นรูปไว้บนผนังถ้ำ จึงเกิดเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งภาพบางภาพก็ดูประหลาดผิดธรรมชาติ นั่นเพราะเป็นภาพวาดที่ต้องการสื่อสารให้เห็นการเคลื่อนไหว

ต่อมาเป็นห้อง “เล่นเงา” ซึ่งถอยร่นไปเมื่อหลายพันปีก่อน เมื่อมนุษย์รู้จักเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และย้ายออกจากถ้ำมาอาศัยในบ้าน ตอนกลางวันก็ออกไปทำไร่นา ตกกลางคืนก็มาเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟัง และคิดค้นหาวิธีเล่าให้สนุกยิ่งขึ้น อย่างการเล่าเรื่องด้วยเงา โดยใช้แสงจากดวงจันทร์หรือตะเกียง ไม่มีใครรู้ว่าเราเริ่มต้นเล่นเงาตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจจะตั้งแต่สมัยยังอยู่ในถ้ำ ใครบางคนอาจจะบังเอิญใช้มือทำให้เกิดเงารูปร่างต่าง ๆ ต่อมาจึงรู้จักใช้แผ่นหนังสัตว์หรือวัสดุอื่น ๆ มาตัดเป็นรูปทรงที่ต้องการ ซึ่งถูกพัฒนาให้สวยงามขึ้นจนกลายเป็นตัวหนังสำหรับเล่นเงาโดยเฉพาะ อย่างเช่นหนังใหญ่และหนังตะลุง

จากนั้นติ๊ดต้าและมามองจะพาเดินผ่านอุโมงค์กาลเวลามาสู่ห้อง “นักประดิษฐ์” เพื่อเล่าเรื่องเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ที่ศิลปวิทยาการต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความรู้คิดทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ทำให้สามารถอธิบายทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตา (Persistence of vision) ซึ่งเป็นกุญแจที่ช่วยไขความสงสัยว่าทำไมเราจึงเห็นภาพนิ่ง ๆ ทีละภาพ ๆ กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ และด้วยทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตานี่เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์นำไปคิดประดิษฐ์ของเล่นที่ทำให้เห็นภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้ในหลากหลายรูปแบบเรียกว่า ของเล่นลวงตา (Optical Toys) และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นการฉายภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ภาพยนตร์

และส่วนสุดท้ายของนิทรรศการคือห้อง “ลองเล่น” ผู้ชมจะเดินผ่านอุโมงค์รูปดวงตาซึ่งเปรียบเสมือนทางเดินจากดวงตาไปสู่สมองที่เป็นโลกแห่งจินตนาการ เมื่อเข้ามาภายในห้องก็จะพบกับเรือเหาะยักษ์ที่ถูกตกแต่งด้วย Optical Toys ขนาดใหญ่หลากหลายชนิดเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นสนุก มีเกมสร้างแอนิเมชันติ๊ดต้าและมามองให้ได้ทดลองสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง และปิดท้ายด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันที่จะให้ทุกคนได้เห็นถึงวิวัฒนาการของการสร้างภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวได้จนเกิดเป็นภาพยนตร์ในปัจจุบัน

 

เมืองมายา

 

เมืองมายา

นิทรรศการกลางแจ้งของหอภาพยนตร์ ที่จำลองฉากสถานที่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์โลกไว้ ประกอบไปด้วย 5 อาคารหลัก

ร้านถ้ำมองคิเนโตสโคป ร้านแสดงเครื่องคิเนโตสโคป ประดิษฐกรรมภาพยนตร์แบบถ้ำมองของโทมัส เอดิสัน ผู้คิดค้นภาพยนตร์ได้สำเร็จเป็นรายแรก ๆ ของโลก แต่เป็นภาพยนตร์แบบใส่ไว้ในตู้ ให้หยอดเหรียญดูได้ทีละคน เปิดให้บริการร้านแรกที่ย่านบรอดเวย์ในนิวยอร์ก

ประตูสามยอด ประตูเมืองเก่าแก่ในย่านชุมชนการค้าที่คึกคักสมัยรัชกาลที่ 5 สถานที่อันเป็นหลักหมายเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย

มงคลบริษัท สถานที่จัดฉายหนังครั้งแรกในสยาม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2440 ถือเป็นวันนับหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

กรองด์คาเฟ่และซาลอนอินเดียน นิทรรศการจำลองฉายหนังขึ้นจอครั้งแรกของโลก นักประดิษฐ์สองพี่น้องชาวฝรั่งเศสนามว่า พี่น้องลูมิแอร์ ได้เผยประดิษฐกรรมชิ้นใหม่ของตนให้ชาวโลกได้เห็นในชื่อว่า ซีนีมาโตกราฟ โดยการเช่าสถานที่ห้องโถงใต้ดินร้านกาแฟกร็องด์คาเฟต์ ที่ตั้งอยู่ในโรงแรมสคริบบ์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในคืนวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2438 หรือปีค.ศ.1895 ในค่ำคืนนั้นมีคนเข้าชมเพียง 33 คนเท่านั้น โดยในห้องนี้ได้จำลองบรรยากาศการชมภาพยนตร์ที่ฉายขึ้นจอและเก็บค่าเข้าชมตามธรรมเนียมของการดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ภายในค่ำคืนดังกล่าวจริงๆ เพื่อให้ทุกท่านได้สัมผัสและดื่มด่ำไปกับความรู้สึกนั้นในวันแรกที่ถือได้ว่าเป็นวันเกิดภาพยนตร์โลก

โรงหนังตังค์แดง โรงหนังแห่งแรกของโลก ที่ชื่อว่า นิคเกิ้ลโลเดี้ยน หลังจากที่ภาพยนตร์ได้เกิดขึ้น ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโชว์ แต่ยังไม่มีช่องทางการเผยแพร่เป็นของตัวเองนัก ในที่สุดเมื่อความนิยมในภาพยนตร์เพิ่มขึ้น ก็ได้เกิดโรงหนังถาวรแห่งแรกขึ้น และก่อให้เกิด “นักดูหนัง” ขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมในการดูหนังอย่างจริงจังมากขึ้น โรงหนังแห่งแรกตั้งอยู่ที่เมืองพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา และภายในปีเดียวกันนั้นเองหลังจากที่โรงหนังแห่งแรกเกิดขึ้น ก็ได้เกิดโรงหนังลักษณะเดียวกันกว่า 8000 โรงทั่วอเมริกา บรรยากาศของการเข้าชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์แห่งแรก ได้อยู่ตรงหน้าแล้ว ขอเชิญรับชมได้ตามอัธยาศัย

 

ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว

 

ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว

นิทรรศการ “ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว” เป็นการหยิบยืมและต่อยอดจากโครงการศิลปะ Primitive Project จากปี 2553 ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังไทยคนสำคัญ โครงการ Primitive มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคอีสานในช่วงสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ การจัดแสดงที่หอภาพยนตร์ ประกอบด้วยยานอวกาศไม้ที่ชาวบ้านนาบัวร่วมแรงร่วมใจสร้างไว้ (บ้านนาบัว คือ “หมู่บ้านเสียงปืนแตก”) มีวิดีโอที่บันทึกการสร้างยานอวกาศนี้ อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กลมกลืนไปกับองค์ประกอบของนิยายวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังมีแผงข้อมูลบนผนังสูงจรดเพดาน เล่าถึงความเป็นมาของยาน มิติทางประวัติศาสตร์ของโครงการ และการอนุรักษ์วัตถุสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เหล่านี้ไว้โดยหอภาพยนตร์

ทั้งนี้ในการจัดแสดง ภัณฑารักษ์ของหอภาพยนตร์ได้รับคำแนะนำโดยอภิชาติพงศ์ ผู้ให้กำเนิด Primitive Project ตั้งแต่ต้น โดยยึดถือเจตนารมณ์เดียวกันกับผู้กำกับ ทั้งในเชิงสุนทรียศาสตร์ของวัตถุ แสง ภาพเคลื่อนไหว ในการถ่ายทอดเนื้อหาและอุดมการณ์ดั้งเดิมของชิ้นงาน

 

นิทรรศการ ลานไปดวงจันทร์ (A Trip To The Moon Terrace)

 

นิทรรศการ ลานไปดวงจันทร์ (A Trip To The Moon Terrace)

ลานสำหรับนิทรรศการค้นหาความฝัน การสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็น การคิดจินตนาการ การประดิษฐ์เพื่อไปทำความฝันไปสู่ความจริง ลานนี้เป็นบริเวณด้านข้างของโรงหนังช้างแดง ซึ่งสถาปนิกได้ออกแบบให้ผนังด้านข้างโรงมีลักษณะคล้ายโรงหนังกระโปรง ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมถ้ำมองสำหรับดูภาพยนตร์ที่มีผู้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นอาชีพการแสดงเร่แบบปาหี่อย่างหนึ่งในประเทศไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการเจาะรูมีบานเปิดปิดให้ผู้มาเยือนลานนี้แอบดูหนังในโรงช้างแดงได้ และในลานยังจัดให้เป็นลานสำหรับจัดแสดงประดิษฐกรรมประเภทถ้ำมองแบบต่าง ๆ ทั้งของต่างประเทศและของไทย และต่างยุคสมัย ทั้งถ้ำมองก่อนยุคภาพยนตร์และถ้ำมองภาพยนตร์ พอให้เห็นพัฒนาการคลี่คลายของประดิษฐกรรมนี้ โดยมีทั้งหนังถ้ำมองของไทยที่เรียกว่าหนังกระโปรง ถ้ำมองสามล้อถีบแบบสิงคโปร์ ถ้ำมองศาลาเฉลิมเร่ สองล้อถ้ำมอง ฯลฯ

นอกจากนี้ยังทำจำลองฉากและเนื้อหาจากภาพยนตร์เรื่อง HUGO (2554) ภาพยนตร์ที่อ้างอิงเรื่องราวชีวประวัติของ จอร์ช เมลีแยส มาบรรจุไว้ในลานนี้ เพื่อแสดงประวัติการกำเนิดภาพยนตร์และประวัติ จอร์ช เมลีแยส นักมายากลผู้บุกเบิกภาพยนตร์ไปสู่จินตนาการให้เป็นจริงด้วยการเดินทางไปดวงจันทร์ โดยจะจัดสร้างฉากซุ้มขายของเล่นและขนมของเมลีแยส ซึ่งเป็นอาชีพในบั้นปลายของนักสร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคนหนึ่ง รวมทั้งมีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่มีจรวดปักตาประดับอยู่เหนือร้าน