...

นกทัณฑิมา

      ศิลปะรัตนโกสินทร์  พุทธศตวรรษที่ ๒๔ (๒๐๐ ปีมาแล้ว)

      เดิมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

      ปัจจุบันจัดแสดง ณ ระเบียงหมู่พระวิมานด้านทิศตะวันตก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      ทัณฑิมา เป็นสัตว์หิมพานต์จำพวกนก ยืนถือกระบอง หัวมีหงอน มีจงอยปากใหญ่และงองุ้ม มีเขี้ยว ๑ คู่ หูแบบหูวัว ตาแบบตาจระเข้ คือเรียวยาว มีแขนเหมือนคน แต่มีแผงขนใต้ท้องแขน มือมี ๕ นิ้ว เล็บแบบนก กลางหลังมีปีก มีหางแบบหางไก่ ขาทั้ง ๒ เรียวเป็นขานก และมีแผงขนที่น่อง ทั้งนี้ “ทัณฑิมา” แปลตามรูปศัพท์ได้ว่า “ผู้ถือกระบอง”

      รูปนกทัณฑิมานี้หล่อจากดีบุก ตามประวัติระบุว่าเดิมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ เมื่อมีการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวเตรียมการฉลองพระนครอายุครบ ๑๕๐ ปี ในพ.ศ ๒๔๗๔ จึงย้ายมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งนี้เข้าใจว่าเดิมจะอยู่ที่พระเศวตกุฎาคารวิหารยอด เนื่องจากปัจจุบันมีประติมากรรมนกทัณฑิมา หล่อโลหะที่เป็นงานช่างรุ่นหลังติดตั้งไว้แทน

      จากอาฏานาฏิยสูตร ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค กล่าวว่า สระนฬินี สระบัวหลวง ที่วิสาณราชธานี เมืองของท้าวเวสวัณ (ท้าวกุเวร) ในสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา มีฝูงนกทัณฑมาณวะ ซึ่งในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถาอาฏานาฏิยสูตร อธิบายว่า “หมู่นกทัณฑมาณวกคือนกมีหน้าเหมือนคน ได้ยินว่า นกเหล่านั้น เอาเท้าสองจับไม้ทองคำแล้วเหยียบใบบัวใบหนึ่ง วางไม้ทองคำลงในบัวอันไม่มีระหว่าง เที่ยวไป”

      สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอธิบายเรื่องนกทัณฑิมากับอาฏานาฏิยสูตร ไว้ความว่า “นกทัณฑิมา ในตำราสัตวหิมพาน เขาเขียนตัวเปนครุฑถือกระบอง หัวเปนนกอินทรี แต่ที่ค้นมาได้ตามที่มีในบาลี นกทัณฑมานวก ในสวนท้าวเวสวัณนั้นตัวเล็กเต็มที ว่ามีปากยาวดุจถือไม้ท้าวเที่ยวจดจ้องอยู่บนใบบัว ไปทางพวกนกปากซ่อม...” ดังนั้นในงานจิตรกรรมไทยประเพณีจึงมักจะพบว่านกทัณฑิมาวาดอยู่ในสระน้ำที่มีกอบัว  

 

 

***หมายเหตุ ในพ.ศ ๒๔๗๔ เมื่อนำนกทัณฑิมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้จัดแสดงที่ชาลาด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ต่อมานกเหล่านี้ถูกนำ้ฝนและแสงแดดจึงมีสภาพชำรุด กรมศิลปากรได้จำลองนกชุดใหม่มาตั้งแสดงแทน และนำนกทัณฑิมาชุดเดิมไปเก็บรักษาที่ระเบียงด้านหลังหมู่พระวิมานด้านทิศตะวันตก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

(จำนวนผู้เข้าชม 1969 ครั้ง)