...

เครื่องไม้จำหลัก วัดจำปา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          วัดจำปาตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บนพื้นที่สันทรายทางทิศเหนือของเมืองไชยา วัดจำปาไม่ปรากฏหลักฐานถึงผู้สร้างและปีที่สร้างอย่างชัดเจน แต่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่กำหนดอายุได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวคือ 

ประการแรก จารึกวัดจำปา (สฎ.๑) ลักษณะเป็นแท่งศิลารูปทรงใบเสมาหินทรายสีเทา อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย ปรากฏศักราช พ.ศ. ๒๓๐๙ มีใจความกล่าวถึงการอุทิศทำบุญ 

         ประการที่สอง วิหาร มีลักษณะเป็นอาคารทรงโรง ภายในอาคารมีเสาร่วมใน ผนังอาคารเป็นผนังไม้ฝาปะกน (ซึ่งเป็นงานบูรณะในสมัยหลัง) พนักช่องหน้าต่างจำหลักลายลูกกรง หลังคาทรงจั่วซ้อนกันสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย หน้าบันชั้นลดยื่นออกมาในลักษณะของมุขประเจิด รองรับด้วยหลังคาปีกนกซ้อนกันสามชั้นคลุมรอบอาคาร หน้าบันไม้กึ่งกลางจำหลักลายช่อหางโตเรียงต่อกัน ด้านข้างจำหลักลายก้านขด รูปแบบชั้นหลังคาดังกล่าว เทียบได้กับอาคารที่มีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น 

         ประการที่สาม พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปหินทรายประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย ขนาดใหญ่ ศิลปะอยุธยามีพุทธลักษณะสำคัญ คือ พระรัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกเล็ก พระพักตร์สี่เหลี่ยมมีเส้นไรพระศก พระขนงโก่ง ระหว่างเปลือกพระเนตรกับพระขนงป้ายเป็นแผ่น พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี ส่วนปลายแยกจากกันคล้ายเขี้ยวตะขาบ ประทับขัดสมาธิราบ

ประการที่สี่ ใบเสมาวัดจำปา ปักใบเสมาคู่ ลักษณะแผ่นหินทรายแดงรูปทรงคล้ายกลีบบัว ส่วนยอดของใบเสมาสลักลายดอกไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เอวใบเสมาคอด ส่วนล่างของใบเสมากึ่งกลางสลักลายจอมแห ฐานรองรับใบเสมาประกอบด้วยฐานสิงห์และฐานบัวหงายในผังเพิ่มมุมไม้สิบสอง 

         สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ได้เสด็จผ่านวัดจำปาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ และทรงบันทึกถึงบานประตูวิหารวัดจำปาไว้ว่า “...บานประตูหน้าวิหารนั้นแปลก บานขวาเปนยักษยืนแท่นถือกระบอง มีนาค ๗ เศียร ปกหัวงูอยู่ใต้ขา บานซ้ายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณถือพระขรรค์สองมือ ชายผ้ามันแปลก ได้เขียนเอามาด้วย สงไสยว่าผิดคู่กัน...” ทั้งนี้ในภาพถ่ายของ KARPELÈS Suzanne เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ปรากฏว่า บานประตูไม้จำหลักรูปทวารบาล แผ่นไม้จำหลักรูปพระราหู และประติมากรรมไม้จำหลักรูปยักษ์ทวารบาลนั้นได้ถูกถอดออกมาวางเรียงกันไว้ 

         ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ มีการนำงานไม้จำหลักทั้งสามชิ้น ได้แก่ บานประตู แผ่นไม้จำหลักรูปพระราหู และ แผ่นไม้จำหลักรูปยักษ์ทวารบาล มาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ และลงประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓

         ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ภาพถ่ายของ Bernard Philippe Groslier ปรากฏบานประตูไม้วัดจำปาจัดแสดงในห้องมุขเด็จ ด้านทิศตะวันตก ในอาคารหมู่พระวิมานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         บานประตูไม้จำหลักรูปทวารบาล ขนาดกว้างรวม ๑๑๐ เซนติเมตร สูง ๑๙๕ เซนติเมตร ประกอบด้วยแผ่นไม้สองบาน บานหนึ่งจำหลักรูปเทวดาทรงเครื่อง ส่วนพระเศียรทรงมงกุฎยอดแหลม พระกรรณทรงกุณฑล พระวรกายทรงเครื่องประดับ ได้แก่ ทับทรวงและสายสังวาล, พาหุรัด ทองพระกร พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือพระขรรค์ รัดองค์มีปั้นเหน่งประดับ นุ่งโจงทับสนับเพลา มีชายผ้าเกี้ยวยาวออกมาสองข้าง ทรงทองพระบาท และทรงยืนอยู่บนช้างสามเศียร เหนือรูปเทวดาจำหลักลายก้านขดออกเป็นช่อหางโตและนาค สันนิษฐานว่ารูปเทวดาดังกล่าวคือ พระอินทร์ บานประตูอีกบานเป็นรูปยักษ์ทรงเครื่อง ลักษณะทรงเครื่องประดับคล้ายกับเทวดา ได้แก่ มงกุฎยอดแหลม กรองศอ พาหุรัด ข้อมือสวมกำไล สองมือกุมกระบองยาว นุ่งผ้าสั้น ชายผ้าหน้านางสั้น ข้อเท้าสวมกำไลเท้า มีงูบริวารอยู่รอบขา และยืนเหนือยักษ์บริวาร เหนือรูปยักษ์จำหลักพังพานนาค ๗ เศียร สันนิษฐานว่าอาจหมายถึงท้าววิรูปักษ์ หนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตกและมีนาคเป็นบริวาร อกเลาประตูจำหลักลายรักร้อย กลางอกเลาจำหลักลายดอกไม้รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน 

          การกำหนดอายุของบานประตูนั้นพิจารณาได้จากลายช่อหางโต และโครงลายก้านขดที่ม้วนออกลายเป็นสัตว์และช่อหางโต ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะอยุธยาตอนปลาย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ (ประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว)

ปัจจุบันบานประตูไม้จำหลักรูปทวารบาล จัดแสดงอยู่ในห้องมุขเด็จ ในหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          แผ่นไม้จำหลักรูปยักษ์ทวารบาล ลักษณะเป็นรูปยักษ์ทรงเครื่อง สวมมงกุฎยอดยอดน้ำเต้า กึ่งกลางกระบังหน้าจำหลักลายดอกไม้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาบด้วยลายวงรี และด้านข้างมงกุฎทั้งสองข้างจำหลักลายดอกไม้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบหน้าค่อนข้างกลม ตาเบิกโพลง ลำตัวคาดด้วยสังวาลประดับทับทรวง ต้นแขนสวมพาหุรัด ข้อมือสวมกำไล สองมือกุมกระบองยาว นุ่งโจงทับสนับเพลามีลายเหรา ชายผ้าเกี้ยวยาวออกมาสองข้าง ที่ด้านข้างมีเสือเป็นสัตว์บริวาร ส่วนฐานชำรุดหักหายไป สันนิษฐานว่าแผ่นไม้ชิ้นนี้น่าจะเป็นบานประตูอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกถอดเก็บออกมาไว้ต่างหาก ดังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ความตอนหนึ่งว่า “...บานประตูหน้าโบสถ์ยังมีซีกหนึ่ง พระครูเก็บเอาตั้งไว้ให้ดูในวิหารเปนรูปยักษยืนแท่นถือกระบอง...”

          การกำหนดอายุพิจารณาได้จากเครื่องทรงยักษ์ มีรูปแบบเช่นเดียวกับเครื่องทรงของรูปทวารบาลบานประตูไม้วัดจำปา จัดเป็นงานศิลปะอยุธยาตอนปลาย กำหนดอายุได้ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ (ประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว)

          โบราณวัตถุชิ้นนี้เก็บรักษาอยู่ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ปัจจุบันนำมาจัดแสดงนิทรรศการ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

          แผ่นไม้จำหลักรูปพระราหู ลักษณะเป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางจำหลักภาพพระราหูปรากฏเพียงส่วนศีรษะและแขนทั้งสองข้าง มีลักษณะสำคัญคือ ศีรษะสวมมงกุฎประดับตาบสามเหลี่ยม กึ่งกลางกระบังหน้าเป็นลายดอกไม้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาบด้วยลายวงรี และด้านข้างมงกุฎทั้งสองข้างจำหลักลายดอกไม้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน คิ้วขมวดเข้าหากัน นัยน์ตาหรี่คล้ายดวงตาจระเข้ ปากแสยะ เขี้ยวที่มุมปากทั้งสองข้างยาว ต้นแขนสวมพาหุรัด ข้อมือสวมกำไล สองมือของพระราหูกำลังจับนาคที่คาบลายก้านขดส่วนปลายเป็นลายช่อหางโต 

          ตามภาพลายเส้นฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แผ่นไม้ชิ้นนี้แต่เดิมเป็นแผ่นทับหลังประตูทางเข้าวัดจำปา ส่วนประตูเดิมนั้นปัจจุบันไม่หลงเหลืออยู่แล้ว แต่ยังพบการทำประตูวัดรูปแบบดังกล่าวนี้อยู่บ้าง เช่น ที่วัดพระประสพ ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

การกำหนดอายุของบานประตูนั้นพิจารณาได้จากลายช่อหางโตและโครงลายก้านขดที่ม้วนออกลายเป็นช่อหางโต ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะอยุธยาตอนปลาย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ (ประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว)

          ส่วนรูปของพระราหูที่จับนาคทั้งสองมือนั้นพบว่าปรากฏในจิตรกรรมสมัยอยุธยากลางถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายแห่ง เช่น จิตรกรรมวัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ จิตรกรรมวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี จิตรกรรมวัดดุสิดารามวรวิหาร และ จิตรกรรมวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นต้น

         โบราณวัตถุชิ้นนี้เก็บรักษาอยู่ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ปัจจุบันนำมาจัดแสดงนิทรรศการ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

 

ค้นคว้าและเรียบเรียง : นายพนมกร นวเสลา

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. เครื่องไม้จำหลักในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: กรีนลิบบรา จำกัด, ๒๕๕๒.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๐.

วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์. พระราหู. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2557.

สันติ เล็กสุขุม. กระหนกในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๕.

ราชกิจจานุเบกษา

แจ้งความราชบัณฑิตยสภา เรื่อง มีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร (๒๔๗๓, ๒๓ พฤศจิกายน) เล่มที่ ๔๗ ตอนที่ ๐ง.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1265 ครั้ง)