วัดวงศมูลวิหาร
จำนวนผู้เข้าชม 2073

“วัดวงศมูลวิหาร” เป็นวัดที่สร้างขึ้นภายในเขตจวนเดิมของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑ แล้ว ได้พระราชทานบ้านหลวงให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ ตามลำดับ กระทั่งในปี ๒๓๕๒ พระราชนิเวศน์เดิมจึงได้เป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าชายประยงค์ หรือ “กรมขุนธิเบศรบวร” (ต้นราชสกุล บรรยงกะเสนา ณ อยุธยา) และเป็นเจ้านายผู้สร้างวัดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างก่อนปี ๒๔๐๐ ด้วยมีหลักฐานระบุเรื่องวัดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า “...กรมขุนธิเบศบวรสร้างขึ้นที่หลังวังวัดหนึ่งก็ค้างอยู่ โปรดให้บุรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป...” กระทั่งแล้วเสร็จบริบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังปรากฏว่ามีการพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี ๒๔๑๘ สันนิษฐานภายในเขตพระอารามมีอาคารประกอบกิจของสงฆ์ เช่น พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ โรงทึม (โรงสำหรับตั้ง หรือเก็บศพ) รวมถึงพื้นที่เผาศพ ด้วยวัดวงศมูลวิหารถูกจัดเป็นวัดที่ห้ามเผาในฤดูลมตะวันตก (เพื่อไม่ให้กลิ่นสร้างความรำคาญแก่ชาวบ้าน หรือลอยเข้าพระบรมมหาราชวัง)
.
โดยความพิเศษของวัดวงศมูลวิหารประการหนึ่ง คือในส่วนของอาคารอุโบสถที่หันออกทางด้านแป ดังมีหลักฐานระบุใน “สาส์นสมเด็จ” ถึงเหตุแห่งซ่อมแปลง “...เล่ากันมาว่า เมื่อกรมขุนธิเบศร์บวรสร้างวัดวงศ์มูลก็หันหน้าโบสถ์และพระประธานไปทางตะวันออก เมื่อสร้างวัดแล้วอยู่มา กรมขุนธิเบศร์บวรไม่ทรงสบาย.. เห็นกันว่า เพราะสร้างวัดตั้งพระประธานหันหน้าเข้าไปทางตำหนัก จึงให้ย้ายพระประธานไปตั้งทางด้านแป...” จึงถือเป็นอาคารพิเศษที่หันออกทางด้านยาว ดังปัจจุบันปรากฏประตูทางเข้า ทั้งทางทิศตะวันออก และทิศเหนือ รวมถึงมีการประดับใบเสมาติดเสา ลักษณะคล้ายพระอุโบสถสกุลช่างวังหน้าอีกด้วย ต่อมาวัดนี้ถูกยุบเลิกไปในปี ๒๔๕๙ โดยกองทัพเรือได้ขอที่ดินของวัดเพื่อจัดสร้างอู่หมายเลข ๒ คงเหลือไว้เพียงอุโบสถหลังเดียวเท่านั้น
.
นอกเหนือจากความพิเศษของวัดวงศ์มูลวิหาร ยังมีสถานที่น่าสนใจในกิจกรรม Museum Travel ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล พิพิธบางลำพู ฯลฯ ทั้งนี้ยังสามารถติดตามข่าวสารได้ทางแฟนเพจ Office of National Museums, Thailand ...แล้วพบกันนะครับ...
.
ภาพที่ ๑ ป้ายหน้าโบสถ์วัดวงศมูลวิหาร (โบราณสถาน) ภาพที่ ๒ โบสถ์วัดวงศมูลวิหารด้านทิศตะวันตก ประดับใบเสมาติดเสา ภาพที่ ๓ พระพุทธรูปในซุ้มหินอ่อน อิทธิพลศิลปะตะวันตก ด้านล่างมีแผ่นโลหะระบุศักราช ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ภาพที่ ๔ แนวกำแพงของพระนิเวศน์เดิม ภายในกรมอู่ทหารเรือ
.
เผยแพร่และภาพโดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.