องค์ประกอบสถาปัตยกรรมเรือนลาวโซ่ง
จำนวนผู้เข้าชม 2336


          บ้านเรือนของชาวลาวโซ่งเรียกว่า “กวังตุ๊บ” หรือ “เฮือนลาว” เป็นเรือนเครื่องผูก ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หลังคามุงด้วยแฝก มีใต้ถุนสูง องค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนลาวโซ่ง ดังนี้
          • หลังคา มุงด้วยหญ้าแฝก เป็นทรงโค้งคล้ายกระดองเต่า ลาดต่ำคลุมลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน แทนฝาเรือน เพื่อกันลม ฝน และอากาศหนาวเย็น เนื่องจากถิ่นฐานเดิมของลาวโซ่งอยู่ในเขตหนาวมาก่อน การทำหลังคาลาดต่ำจึงช่วยป้องกันลมหนาว 
          • ขอกุด ทำจากไม้แกะสลักคล้ายเขากวางไขว้ ประดับบนยอดจั่ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนลาวโซ่ง โดยมีตำนานของชาวลาวโซ่งเล่าสืบต่อกันมาว่า แถนหรือเทวดาเป็นผู้ส่งควายมาเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อใช้งานและช่วยมนุษย์ทำมาหากิน จึงทำให้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและเป็นที่มาของการสร้าง “ขอกุด” ประดับไว้เหนือจั่วหลังคาบ้าน ถือว่าควายมีบุญคุณทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน มุ่งมั่นการต่อสู้และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์
          • เสาเรือน ทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งต้น ซึ่งต้องคัดเลือกต้นไม้ที่มีง่ามสำหรับทำเสา และเป็นต้นไม้ที่มีความสูงไล่เลี่ยกัน เมื่อวางไม้คานบนง่ามเสาทำให้ได้ระดับเดียวกัน
          • เรือนยุ้งข้าว มักจะมีพื้นสูงกว่าเรือนผู้ท้าว (เรือนนอน) เนื่องจากชาวลาวโซ่งถือว่าภายในยุ้งข้าวซึ่งเก็บรักษาข้าว และข้าวมีพระแม่โพสพสถิตย์อยู่
ชาวลาวโซ่งมักใช้พื้นที่ใต้ถุนทำกิจกรรมในตอนกลางวัน เช่น ทอผ้า ตำข้าว จักสาน ส่วนบนเรือนจะใช้สำหรับเป็นที่หลับนอน ทำครัว และประกอบพิธีกรรม บนเรือนลาวโซ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน คือ 
          • ชาน  เป็นส่วนระเบียงหน้าเรือน ใช้เป็นที่รับแขกและนั่งเล่น
          • ห้อง เป็นโถงใหญ่ภายในบ้าน ใช้เป็นที่นอน ที่ทำครัว และเก็บข้าวของต่าง ๆ มีมุมหรือกั้นห้องเล็กสำหรับเซ่นไหว้ผี เรียกว่า “กะล้อห่อง” ที่แปลว่ามุมห้อง เป็นส่วนที่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไม่สามารถเข้าไปในส่วนนี้ได้ 
          • กว้าน เป็นส่วนระเบียงหลังเรือน ใช้สำหรับทำพิธีเซ่นบรรพบุรุษ


----------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
https://www.facebook.com/153378118193282/posts/1840817466115997/