เหรียญรูปสังข์บรรจุภายในภาชนะดินเผา จากโบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ เมืองโบราณอู่ทอง
จำนวนผู้เข้าชม 1260


    เหรียญรูปสังข์บรรจุภายในภาชนะดินเผา พบจากการขุดศึกษาโบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จัดแสดงห้องโบราณคดีเมืองอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
  เหรียญขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ – ๑.๕ เซนติเมตร ลักษณะบางคล้ายเกล็ดปลา ด้านหน้ามีรูปสังข์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งลวดลายนี้พบบนเหรียญเงินสมัยทวารวดี ทั้งแบบที่มีรูปสังข์หน้าเดียว และแบบที่มีรูปสังข์ – ศรีวัตสะอยู่คนละด้าน ส่วนด้านหลังเรียบไม่มีลาย เหรียญอยู่ในสภาพชำรุด และติดกันแน่นเป็นกลุ่มอยู่กับดินบริเวณส่วนคอของภาชนะดินเผาทรงกลมที่มีคอสูง กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
  เหรียญรูปสังข์และภาชนะดินเผานี้ ขุดพบที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีลักษณะเป็นเนินดินที่มีวัสดุโครงสร้างของโบราณสถานได้แก่ ศิลาแลง ก้อนหินปูน และอิฐ กระจายอยู่ทั่วเนินดิน โดยพบภาชนะดินเผาดังกล่าวในลักษณะวางตั้งตรง ส่วนคอมีรอยแตก สามารถแยกออกจากลำตัวได้ ภายในมีเหรียญรูปสังข์บรรจุอยู่เต็ม เหรียญเกาะตัวกันแน่นจนไม่สามารถนำออกมาได้ ต่อมามีการนำเหรียญดังกล่าวออกจากตัวภาชนะ คงเหลือเพียงเหรียญที่ติดแน่นบริเวณส่วนคอจนกระทั่งปัจจุบัน 
  สันนิษฐานว่าเหรียญรูปสังข์พร้อมภาชนะดินเผานี้ ทำขึ้นสำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรม หรืออาจเกี่ยวข้องกับการวางฤกษ์ศาสนสถาน การบรรจุเหรียญลงในภาชนะดินเผาแล้วฝังไว้บริเวณศาสนสถาน ยังพบที่โบราณสถานแห่งอื่นด้วย เช่น เหรียญเงินมีจารึก “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” เหรียญมีสัญลักษณ์มงคล และแท่งเงินตัดบรรจุในภาชนะดินเผาพบที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๗ และเหรียญรูปสังข์บรรจุในภาชนะดินเผาร่วมกับพระพิมพ์พบที่โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง เป็นต้น
------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีคอกช้างดิน. กรุงเทพฯ : ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี. พระนคร : ศิวพร, ๒๕๐๙
วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖”. วิทยานิพนธ์ปริญญา         ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑.
สมศักดิ์ รัตนกุล “การขุดแต่งโบราณสถานด้านทิศเหนือของคอกช้างดิน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ศิลปากร ๑๑, ๒ (กรกฎาคม ๒๕๑๐) : ๗๘ – ๘๔.
สุภมาศ ดวงสกุล และคณะ. ศาสนสถานและสิ่งก่อสร้างบนเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองอู่ทอง : ผลการสำรวจ ทางโบราณคดีบนเขตภูเขานอกเมืองอู่ทอง พ.ศ. ๒๕๖๒. สุมทรสาคร : บางกอกอินเฮาส์, ๒๕๖๒.
 
----------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
https://www.facebook.com/Uthongmuseum/posts/pfbid0ufj1FUrkPRG43G2CMUexRaeBoM21Wtjnabcfj9CfRxzDfZgLNM1YdXPRQ3pFXSdal