พระพุทธรูปปูนปั้นภายในวิหารพระนอน วัดดงหวาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จำนวนผู้เข้าชม 2287


  วัดดงหวาย ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก อยู่ในเขตตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๐ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “วัดดง” สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการบูรณะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ โบราณสถานสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย อุโบสถ วิหารพระนอน และเจดีย์ 
  ในส่วนของวิหารพระนอน ตั้งอยู่ห่างจากอุโบสถไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๓๐ เมตร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนฐานบัวลูกแก้ว ขนาด ๓ ห้อง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เจาะช่องประตู ด้านละ ๑ ช่อง ด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๑ ช่อง บริเวณหน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปเทพนม บุคคลถือสิ่งของ ดอกไม้ ๓ ดอก และข้อความ ร.ศ. ๑๒๘ ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ๒ องค์ 
  พระนอนองค์แรก ลักษณะเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางไสยาสน์ นอนตะแคงขวา พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาวางเสมอกัน ฝ่าพระหัตถ์ยกขึ้นประคองเศียร ฝ่าพระบาททั้งสองข้างสลักเป็นรูปกงจักร ประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานปัทม์ เบื้องพระพักตร์ด้านหน้า มีพระพุทธสาวก ๒ องค์ นั่งคุกเข่าพนมมือ
  พระนอนองค์ที่ ๒ ประดิษฐานอยู่มุมห้องด้านซ้ายของประตูทางเข้าวิหารด้านหลัง อยู่ในอิริยาบถนอนหงายเหยียดยาว พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพระอุทร ปลายพระบาทชิดกัน ครองจีวรห่มเฉียง ที่เบื้องพระบาทมีพระพุทธรูปหรือพุทธสาวกยืนพนมมือ 
  จากลักษณะรูปแบบประติมากรรมพระนอนทั้งสององค์ข้างต้น แสดงถึงเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา บันทึกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร (ทีฆนิกาย) มหาวรรค ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พวกเจ้ามัลละกษัตริย์พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ไฟไม่ติด จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธเถระ จึงแจ้งว่า เทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้ ครั้นเมื่อพระมหากัสสปะ และพระภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาพร้อมกันที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกขึ้นเอง โดยเหตุการณ์เรื่องราวดังกล่าวเกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางศาสนา หรือที่เรียกกันว่า วันอัฏฐมี ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 
  และจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมวิหารพระนอนวัดดงหวาย ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างงานช่าง   พื้นถิ่นและประเพณีนิยม สามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์
 
----------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาววิไลวรรณ อยู่ทองจุ้ย นักโบราณคดีชำนาญการ
ที่มาข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา. (๒๕๕๒). วัดดงหวาย ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด.