อู่ฝู : ค้างคาว ๕ ตัวกับความสุข ๕ ประการ
จำนวนผู้เข้าชม 5400

          ภาพสัญลักษณ์มงคลมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมจีนมาช้านาน เราสามารถพบเห็นภาพสัญลักษณ์มงคลเหล่านี้ได้ บนเสื้อผ้า อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้ งานศิลปกรรม หรือแม้แต่เครื่องถ้วย สัญลักษณ์มงคลจีนมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สัตว์ สิ่งของ ต้นไม้ ดอกไม้ หรือตัวอักษรจีนที่มีความหมายเป็นมงคล เป็นต้น โดยสัตว์ชนิดหนึ่งที่มักพบในสัญลักษณ์มงคลจีน คือ ค้างคาว
          ค้างคาว หรือในภาษาจีนกลางเรียกว่า เปียนฝู (蝙蝠) เป็นหนึ่งในสัตว์มงคลที่มักจะพบอยู่บนข้าวของเครื่องใช้ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีมีสุข เนื่องจากอักษร ฝู ในคำเรียกค้างคาวนั้นไปพ้องเสียงกับอักษร ฝู (福) ที่แปลว่า โชคดี รวมถึงพ้องเสียงกับชื่อเทพเจ้า ฝู หนึ่งในสามเทพเจ้าแห่งดวงดาวในลัทธิเต๋า ฝู ลู่ โซ่ว (福禄寿, ภาษาแต้จิ๋ว : ฮก ลก ซิ่ว) นอกจากนี้ ค้างคาวยังปรากฏอยู่ในตำนานอื่น ๆ ของจีนอีกด้วย เช่น ชาวจีนเชื่อว่าค้างคาวมีอายุยืนยาวมากเพราะดื่มกินแต่น้ำบริสุทธิ์จากในถ้ำเท่านั้น หรือเชื่อว่าหากได้กินค้างคาวสีขาวก็จะมีอายุยืนยาว
          การสร้างภาพมงคลรูปค้างคาวมีหลายแบบ แต่ละแบบให้ความหมายที่แตกต่างกันไป อาทิ ค้างคาวตัวเดียว หมายถึง ความโชคดี ค้างคาวสองตัว หมายถึง ความโชคดีทวีคูณ นอกจากนี้ ค้างคาวยังถูกใช้เป็นรูปแทนเทพเจ้าฝูในฝู ลู่ โซ่วด้วย ทว่ารูปแบบหนึ่งที่พบบ่อย คือ การทำรูปค้างคาวห้าตัวซึ่งเป็นตัวแทนของอู่ฝู (五福) หรือความสุขห้าประการ คำสอนสำคัญที่ปรากฏอยู่ใน คัมภีร์ซ่างซู (尚书) ของลัทธิขงจื๊อ กล่าวถึงความสุขอันแท้จริงของมนุษย์ที่พึงได้รับ ประกอบด้วย

ฉางโซ่ว (长寿) หมายถึง มีอายุอันยืนยาว
ฟู่กุ้ย (富贵) หมายถึง มั่งคั่งร่ำรวย
คังหนิง (康宁) หมายถึง สุขภาพดีปราศจากโรคภัย
เห่าเต๋อ (好得) หมายถึง คุณธรรมอันประเสริฐ
ซ่านจง (善终) หมายถึง การตายอย่างสงบสุข


          รูปค้างคาวแต่ละตัวจึงหมายถึงความสุขแต่ละประการข้างต้นนั่นเอง และในบางครั้งจะพบว่ามีการนำอู่ฝูมาประกอบร่วมกับสัญลักษณ์มงคลอื่น ๆ เช่น ลูกท้อ ผักกาด หรือประกอบตัวอักษรจีนประดิษฐ์ เช่น ซวงสี่ (囍, มงคลคู่, ภาษาแต้จิ๋ว : ซังฮี้) เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีความเป็นสิริมงคลและได้รับโชคดี และยัง สะท้อนภาพคติความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวจีนที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง  ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. ๑๐๘ สัญลักษณ์จีน. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น. ๒๕๕๖.