แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม
จำนวนผู้เข้าชม 5119

องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
เรื่อง แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็ก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ :
การขุดค้นทางโบราณคดีระยะที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕
เรียบเรียงโดย นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
.     เหล็ก ถือเป็นสินค้าสำคัญของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยตั้งแต่มีการผลิตในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ จากหลักฐานที่พบในแหล่งถลุงเหล็กสันห้วยทกหิน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งถลุงเหล็กบ้านนาตุ้มของเมืองลองโบราณ จังหวัดแพร่ ในบทความนี้จะกล่าวถึงผลการศึกษาทางโบราณคดีของแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ซึ่งถือเป็นแหล่งโบราณคดีตัวแทน (Key Site) ของแหล่งถลุงเหล็กของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕
.     เอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่าเมืองลองโบราณเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครลำปาง (จังหวัดลำปาง)    มีพันธะที่จะต้องส่งส่วยเหล็กทุกๆปี ปีละ ๔๐ หาบ (๒,๖๐๐ กิโลกรัม) ดังปรากฎในเอกสารจดหมายเหตุความว่า “...ที่เมืองลองเสียส่วยแก่เมืองนคร (ลำปาง) มีแต่เหล็กสิ่งเดียว...เรียกส่วยปีละ ๔๐ หาบเท่านั้น...”   การถลุงเหล็กจะทำขึ้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็ก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีดอยเหล็กซึ่งเป็นเหมืองแร่เหล็กประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยปรากฏในเอกสารของชาวต่าวชาติกล่าวถึงเหล็กของดอยเหล็กว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ เช่น บันทึกของคาร์ล อัลเฟรด บ็อค (Carl Alfred Bock) พ.ศ. ๒๕๒๔ ความว่า “...เห็นได้ชัดว่าเมืองละครนี้ร่ำรวย ไม่เพียงแต่ร่ำรวยป่าไม้เท่านั้นแต่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ใกล้ตัวเมือง (เมืองลอง) มีเหมืองแร่เหล็กที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง...”
.     สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร สำรวจพบแหล่งเนินตะกรันเหล็กแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ จากการสำรวจทางโบราณคดีพบซากเตาถลุงเหล็ก ปลายหุ้มท่อลมดินเผา (tuyère) พะเนินหิน ทั่งหิน เศษแร่ และตะกรันก้นเตาจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ได้ดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี จากการขุดค้นพบเตาถลุงเหล็กจำนวน ๘ เตา เรียงตัวเป็นแนวเดียวกันในทิศเหนือ - ใต้ และการขุดค้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ พบเตาถลุงเหล็กเพิ่มเติมอีกจำนวน ๑๑ เตา เรียงตัวในแนวเดียวกันกับกลุ่มเตาที่ขุดค้นพบในระยะที่ ๒
.     สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้นำตัวอย่างถ่านภายในก้อนตะกรันก้นเตาไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS ได้ค่าอายุได้ค่าอายุที่ ๒๐๒±๑๖ ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๒๓๗๙ ซึ่งค่าอายุมีความสอดคล้องกับเศษเครื่องถ้วยจีน เนื้อแกร่ง เขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบจากแหล่งเตามณฑลฝู้เจี่ยนที่ขุดค้นพบโดยกำหนดอายุอยู่ในปลายรัชศกเจียฉิ้งถึงต้นรัชศกเต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และเมืองลองมีการถลุงเหล็กต่อเนื่องมาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
.     จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่พบและข้อมูลทางโบราณโลหวิทยา สันนิษฐานว่า เตาถลุงเหล็กบ้านนาตุ้มเป็นเตาถลุงเหล็กทรงสูง (Sharft Furnance) สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ใช้ระบบลมแบบสองลูกสูบ (เส่า) หรือ “Double piston bellow” โดยมีช่องสอดท่อลมและปลายหุ้มท่อลมดินเผาอยู่ทางด้านหลังเตาเพียงช่องเดียว สำหรับเทคนิคการถลุงเป็นการถลุงเหล็กทางตรง (Direct Process) ที่มีอุณหภูมิอยู่ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส เหล็กที่ได้จะถูกขนส่งไปยังราชสำนักเมืองนครลำปาง โดยในท้องตลาดถือว่าเหล็กเมืองลองเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ ดังปรากฏในงานวรรณกรรม เช่น ค่าวฉลองคุ้มหลวงของเจ้าหลวงนครแพร่ของศรีวิไชยกวีในราชสำนักแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ความว่า “...ห้าสิบสอง เหล็กลองไหลดั้นข่ามคงกะพันมากนัก...”  หรือสำนวนของชาวล้านนาที่กล่าวว่า “เหล็กดีเมืองลอง ตองดีเมืองพะเยา” เป็นต้น