ภาชนะรูปแบบเด่นที่พบในภูมิภาคอีสานใต้ กับ #ถ้วยสำริด ซึ่งความพิเศษมิได้อยู่ที่ลวดลาย เเต่เป็นของที่บรรจุอยู่ภายใน
จำนวนผู้เข้าชม 1308

#ภาชนะรูปแบบเด่นที่พบในภูมิภาคอีสานใต้ กับ #ถ้วยสำริด ซึ่งความพิเศษมิได้อยู่ที่ลวดลาย เเต่เป็นของที่บรรจุอยู่ภายใน

หากพูดถึง "ถ้วยสำริด" เป็นสิ่งที่สามารถพบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์นับตั้งเเต่สมัยสำริดเป็นต้นมา หรือราว 4,000-1,500 ปีมาเเล้ว นอกจากจะนำเสนอ ถ้วยสำริด ที่พบเเล้ว ยังจะนำเสนอสิ่งที่พบภายใน ถ้วยสำริด ที่พบจากการเก็บกู้โบราณวัตถุ ในเขตพื้นที่บ้านหนองแซงใหญ่ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพบโดยการปรับพื้นที่ จากการเก็บกู้โบราณวัตถุ เราพบถ้วยสำริดจำนวน 2 ชิ้น ซึ่งภายในบรรจุชิ้นส่วนกระดูกและฟันมนุษย์ ดังนี้

#ชิ้นที่1 ความสูง 4.5 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร กลางภาชนะมีแท่งทรงกรวยสูง 2 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนขากรรไกรล่างและฟันมนุษย์ ได้แก่ 1. ชิ้นส่วนขากรรไกรล่างขวา และฟัรกรามใหญ่ซี่ที่ 1-2 2. ชิ้นส่วนขากรรไกรล่าง และหันกรามน้อยซี่ที่ 2 และฟันกรามใหญ่ซี่ที่ 1-2 และ 3. ฟันตัด 6 ซี่ ฟันกรามน้อย 5 ซี่ และฟันกรามใหญ่ 2 ซี่

#ชิ้นที่2 มีความสูง 4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร บริเวณก้นมีการเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เซนติเมตร ภายในถ้วยพบชิ้นส่วรกระดูกมนุษย์ 2 ชิ้น ได้ แก่ 1. กระดูกมือ (ระบุข้างไม่ได้) ส่วน Lunate 1 ชิ้น เเละส่วน Trapezoid จำนวน 1 ชิ้น

นอกจากนี้จากการเก็บกู้โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแซงใหญ่ยังพบโบราณวัตถุ อาทิ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ แวดินเผา เบี้ยดินเผา กระสุนดินเผา โกลนขวานหินขัด ตลอดจนชามดินเผาเนื้อดินธรรมดา ปลายก้นตัด ซึ่ง ร.ศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ระบุว่า ภาชนะรูปแบบดังกล่าวเป็นตัวแทนของภาชนะดินเผาสมัยเหล็ก จึงกำหนดอายุเบื้องต้น ว่าเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก ทั้งนี้เป็นการกำหนดอายุเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากมิได้ดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ จึงมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์หลักฐานที่พบ

ข้อมูลโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

ธนิก เลิศชาญฤทธิ์. ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส. 2560.