ปราสาทตำหนักไทร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
จำนวนผู้เข้าชม 1167

ปราสาทตำหนักไทร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

#ปราสาทตำหนักไทร ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดตำหนักไทร อยู่ห่างจากลำห้วยทา ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของตำบลบักดอง มาทางด้านทิศตะวันออก เพียง 300 เมตร โดยปรากฏร่องรอยการก่อสร้างและใช้ประโยชน์โบราณสถานในฐานะศาสนสถานต่อเนื่อง ถึง 3 ระยะ ด้วยกัน ดังนี้

#ระยะที่1 กำหนดอายุ อยู่ในช่วง ปลายพุทธศตรวรรษที่ 12 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 พบร่องรอยของส่วนฐานของปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ 13.70 เมตร ขนาดกว้างตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก 11.70 เมตร พบร่องรอยการก่ออิฐเป็นช่องบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ด้านทิศตะวันออก เเละพบหลักฐานแผ่นหินทรายเป็นอัฒจันทร์วางอยู่ที่ด้านล่าง หลักฐานสำคัญของระยะที่ 1 คือ ฐานทางขึ้นก่อด้วยอิฐ, ฐานรูปเคารพในปราสาทประธาน, บัดยอดปราสาท, และอัฒจันทร์

#ระยะที่2 กำหนดอายุ อยู่ในช่วง ปลายพุทธศตรวรรษที่ 15 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 มีการสร้างฐานของปราสาทขึ้นใหม่ โดยใช้ศิลาแลงก่อวางเรียงปิดทับ ล้อมรอบฐานอิฐของปราสาทในระยะที่ 1 ฐานเขียงมีรูปแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละ 10 เมตร ก่อศิลาแลงสูง 3 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานอีกชั้นหนึ่ง ก่อด้วยหินทราย 3 ชั้น แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ขนาดด้านละ 10 เมตร มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน และก่อวางเรียงหินทรายเป็นช่องบันได ตัวเรือนธาตุก่ออิฐ อยู่ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม เช่นเดียวกับส่วนฐาน มีขนาดด้านละ 4.2 เมตร มีประตูทางเข้าหลักเฉพาะด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นเป็นประตูหลอก ถัดขึ้นไปเป็นเรือนชั้นซ้อน ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือเพียง 2 ชั้น จากการขุดศึกษาโบราณสถานปราสาทตำหนักไทร ในปี 2554 เราพบบัวยอดปราสาทด้วย หลักฐานสำคัญของระยะที่ 2 คือ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ และบัวยอดปราสาท

#ระยะที่3 พบหลักฐานการใช้ประโยชน์โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของปราสาท โดยมีการนำหินทรายและหินธรรมชาติมาเวียงเป็นแนวทางเดินบนผิวดิน มีความกว้าง 5 เมตร ต่อเนื่องจากด้านหน้าปราสาทไปทางทิศตะวันออก กำหนดอายุ อยู่ในช่วง พุทธศตรวรรษที่ 23

ไฮไลต์สำคัญ ของงปราสาทตำหนักไทร คือ #ภาพสลักคานกรอบประตูเป็นรูปวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ แวดล้อมด้วยท่อนพวงมาลัยและพรรณพฤกษา กำหนดอายุให้อยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัยกับปราสาทประธาน ซึ่งของจริงนำไปเก็บรักษาและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แต่ได้มีการจำลองและติดตั้งไว้ตำแหน่งเดิม เพื่อให้ทุกๆคนได้รับชม

เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

เอกสารอ้างอิง                  

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 4. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2539.

สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา. รายงานข้อมูลโบราณสถาน ปราสาทตำหนักไทร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ. นครราชสีมา: สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา. อัดสำเนา. 2561.