เทพา เมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองจะนะ
จำนวนผู้เข้าชม 4734

    - เทพาคือ ชื่อเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองจะนะ ในเอกสารต่างๆบันทึกชื่อเมืองแห่งนี้ไว้หลายรูปแบบเช่น เมืองเทพา เมืองเทภา เป็นต้น ส่วนในภาษาต่างประเทศได้แก่ Tepa Thepha เป็นต้น และในภาษามลายูท้องถิ่นออกเสียงชื่อเมืองนี้ว่า ตีบอ แต่สำหรับความหมายของคำว่าเทพานั้น รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ เห็นว่าเป็นคำมลายูคือ Tipar หมายถึง ไร่ข้าว ทั้งนี้อาณาเขตของเมืองเทพาในอดีตนั้นครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเป็นอำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน
      - เทพายุคก่อนประวัติศาสตร์ 
พื้นที่ด้านตะวันตกและด้านใต้ของเมืองเทพา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย พบร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้แก่ 
เพิงผาทวดตาทวดยาย ในเขาถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย พบโครงกระดูกมนุษย์ผู้ใหญ่ ๑ โครง สภาพไม่สมบูรณ์ มีอุทิศที่ฝังร่วมกับศพได้แก่ ลูกปัดเปลือกหอยและลูกปัดแก้ว เปลือกหอยแครงเจาะรู ๑ ชิ้น ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็กและชิ้นส่วนโลหะสำริด(ต่างหู?) จากการเก็บตัวอย่างถ่านจากชั้นดินต่างๆ เพื่อกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน-๑๔ พบว่า ปรากฏช่วงการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมอย่างหนาแน่นเมื่อราว ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว 
ถ้ำเพิงในเขาคลองโกน ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย พบโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย อายุเมื่อเสียชีวิตประมาณ ๓๐ ปี จำนวน ๑ โครง เครื่องมือหิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบสีเทาดำ ส้ม นวล และน้ำตาล ตกแต่งด้วยการขัดมัน กดประทับ และรวมควัน ลูกปัดแก้ว กระดูกสัตว์ และเปลือกหอยน้ำจืด จากการเก็บตัวอย่างถ่านจากชั้นดินต่างๆไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าการกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน๑๔ มีค่าอายุราว ๙,๖๐๐ ปีมาแล้ว 
     - เทพาสมัยต้นยุคประวัติศาสตร์
ในช่วงเวลาหลังจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นั้น ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองเทพาในช่วงต้นยุคประวัติศาสตร์ได้ขาดหายไป 
     - เทพาสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๔) 
ปรากฏเรื่องราวของเมืองเทพา ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งระบุว่าพระพนมวังและนางเสดียงทองได้แต่งตั้งเจระวังสาเป็นราชาระวังเจลาบู ให้ครองเมืองจะนะเทพา แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งเมืองอยู่ ณ สถานที่แห่งใด จนกระทั่งสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุงว่าเมืองเทพา มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง 
      - เทพาสมัยธนบุรี (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔) 
ปรากฏชื่อเมืองเทพาในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ในเหตุการณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองนครศรีธรรมราชแตกในพ.ศ.๒๓๑๒ ว่า “...ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพเรือ เจ้าพระยาพิชัยราชาแม่ทัพบก ยกทัพติดตามเจ้าเมืองนครไปเถิงเมืองเทพา จับจีนจับแขกมาไถ่ถามได้เนื้อความว่าเจ้าเมืองนครหนีไปเมืองตานี...” และปรากฏเรื่องราวเหตุการณ์เดียวกันนี้ในพงษาวดารเมืองสงขลา ฉบับเจ้าพระยาวิเชียรคิรี บุญสังข์ด้วย
     - เทพาสมัยรัตนโกสินทร์
เทพาในฐานะเมืองขึ้นของสงขลา (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๓๙) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เมืองเทพามีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองสงขลาภายใต้สังกัดของกรมพระกลาโหม โดยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของเมืองมลายูประเทศราช เจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเหมือนกับเมืองจะนะ 
เทพาภายใต้มณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๗๕) ในพ.ศ.๒๔๓๙ มีการจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช เมืองเทพาจึงเปลี่ยนฐานะจากเมืองขึ้นของเมืองสงขลามาเป็นอำเภอในสังกัดเมืองสงขลา โดยรวมที่จะแหนซึ่งเคยขึ้นกับเมืองสงขลามาสมทบเรียกว่า “อำเภอเมืองเทภา” โดยแต่งตั้งหลวงต่างใจเป็นนายอำเภอ ส่วนพระดำรงเทวฤทธิ์(เรือง) ผู้ว่าราชการเมืองท่านเดิมให้เลื่อนขึ้นเป็นเหมือนจางวางคือที่ปรึกษา
     - เทพาที่บ้านพระสามองค์
สำหรับที่ตั้งเมืองเทพาในช่วงต้นกรุงนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงปรากฏหลักฐานว่าบ้านเจ้าเมืองเทพาในพ.ศ.๒๔๓๒ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทพาตรงกันกับเกาะใหญ่กลางน้ำ (บริเวณบ้านพระสามองค์)
     - บ้านเจ้าเมืองเทพา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเมืองเทพาที่บ้านพระสามองค์ในพ.ศ.๒๔๓๒ ทรงบันทึกเรื่องราวของบ้านเจ้าเมืองเทพาไว้ตอนหนึ่งว่า “...ดูนกเข้าไซแล้วจึงได้ข้ามฟากไปที่พลับพลาหน้าหมู่บ้านที่เป็นเมืองเทพานั้น มีเรือนเจ้าเมืองและราษฎรประมาณสัก ๓๐ หลัง ปลายแหลมวัดที่เกาะสีชังอยู่ข้างแน่นหนากว่ามาก...” 
บ้านเจ้าเมืองเทพาบ้านพระสามองค์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการรื้อถอนไปเมื่อใด แต่ในท้องถิ่นยังคงเหลือหลักฐานคือต้นประดู่ใหญ่สองต้น ซึ่งกล่าวกันว่าเดิมมีศาลาตั้งอยู่หนังหนึ่ง ผู้ใดจะเข้าพบเจ้าเมืองเทพาจะต้องพักคอยในบริเวณนี้ก่อน โดยต้นประดู่ทั้งสองนี้อยู่ห่างจากวัดพระสามองค์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๙๐๐ เมตร
      - วัดเทพาไพโรจน์
 เล่ากันว่าในอดีตนั้นมีพระภิกษุชื่อนวล ธุดงค์มาถึงสถานที่แห่งนี้เมื่อพระนวลฉัน “จังหัน” คือภัตตาหารเช้าซึ่งผู้คนนำมาถวายจำนวนมากแล้ว ปรากฏว่ามีข้าวเหลืออยู่ ท่านจึงเอาข้าวที่เหลือนั้นปั้นเป็นพระพุทธรูปแล้วห่อด้วยดินเหนียวขึ้นได้ชื่อว่า ”พระจังหัน” ต่อมาเมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เก็บดอกไม้มาบูชา และได้นำดอกไม้บูชาที่แห้งเหี่ยวนั้นนำมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งได้ชื่อว่า "พระเกสร” และในช่วงนั้นธูปเทียนหายากจึงเอาแก่นจันทน์ซึ่งเป็นไม้หอมมาจุดเป็นธูปบูชา และได้เก็บเอาเศษไม้หรือขี้เถ้าจากไม้แก่นจันทร์มาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์ได้ชื่อว่า "พระแก่นจันทน์” รวมเป็นสามองค์ 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงบันทึกเรื่องราวของวัดเทพาไพโรจน์ในพ.ศ.๒๔๓๒ไว้ตอนหนึ่งว่า “...มีวัดอยู่วัดหนึ่งเป็นของเก่า แต่พระเทพาเรืองคนนี้มาปฏิสังขรณ์ขอที่วิสุงคามสิมา ได้ให้ใบอนุญาตและเติมท้ายชื่อเดิมซึ่งชื่อว่าวัดเทพา ให้มีเรืองอีกคำหนึ่งชื่อวัดเทพาไพโรจน์ ได้ออกเงินช่วยในการวัดสองชั่ง...” 
       - เทพาที่บ้านพระพุทธ
 พ.ศ.๒๔๔๓ ได้ย้ายเมืองเทพามาตั้งที่บ้านพระพุทธ โดยยังปรากฏหลักฐานคือตีนเสาก่อด้วยปูนของที่ว่าการอำเภอเก่า เรียกชื่อในท้องถิ่นว่า “เสาหลักอำเภอเทพา” ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านพระพุทธ กล่าวกันว่าเมื่อมีการย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าพรุแล้ว อาคารที่ว่าการได้ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านพระพุทธ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว)
      - เทพาที่บ้านท่าพรุ
พ.ศ.๒๔๗๕ ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าพรุใกล้สถานีรถไฟท่าม่วง และต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟท่าม่วงเป็นสถานีรถไฟเทพาตามชื่ออำเภอ
       - ผู้ว่าราชการเมืองเทพา
 สำหรับรายชื่อผู้ว่าราชการเมืองเทพาเท่าที่ปรากฏพบว่าในพ.ศ.๒๔๐๑ (สมัยรัชกาลที่ ๔) นายกล่อมเป็นผู้ว่าราชการเมืองเทพา และในพ.ศ.๒๔๒๘ (สมัยรัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “...ให้นายเรืองมหาดเล็กเวรศักดิ เปนพระดำรงเทวฤทธิ ผู้ว่าราชการเมืองเทพา ขึ้นเมืองสงขลา ถือศักดินา ๑๖๐๐ ตั้งแต่           ณ วันอังคาร เดือนสิบสอง ขึ้นสิบเอจค่ำ ปีรกาสัปตศก ศักราช ๑๒๔๗... และนับเป็นผู้ว่าราชการเมืองเทพาในระบบเจ้าเมืองคนสุดท้ายด้วย
--------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา