หนานแก้วเมืองบูรพ์
จำนวนผู้เข้าชม 1685

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง ลิลิตพายัพ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ซึ่งในปีนั้นการสร้างทางรถไฟสายเหนือสำเร็จตลอดถึงเมืองนครสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดทางรถไฟที่สถานีรถไฟบ้านพาชี แล้วเสด็จประพาสเมืองลพบุรีและมณฑลนครสวรรค์ อันเป็นที่สุดของทางรถไฟ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองพายัพ โดยมีพระราชประสงค์ให้ทรงทำความรู้จักคุ้นเคยกับเจ้านายและข้าราชการในหัวเมืองฝ่ายเหนือ รวมทั้งทอดพระเนตรบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เพื่อจะได้เป็นแนวทางที่จะทรงพระราชดำริสั่งราชการในกาลข้างหน้าได้โดยถูกต้องต่อไป
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สถานีรถไฟนครสวรรค์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพระที่นั่งจากเมืองนครสวรรค์ไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ ในระหว่างทางได้เสด็จประพาสเมืองพิจิตรและพิษณุโลกด้วย จากเมืองอุตรดิตถ์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างและม้าสู่เมืองแพร่แล้วเสด็จประพาสเมืองลำปาง เมืองพะเยา เมืองเชียงราย ก่อนที่จะเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ในช่วงเวลาที่เสด็จประพาสเมืองต่าง ๆ จึงทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ลิลิตพายัพ
พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เมื่อครั้งเป็นหลวงอภิรักษราชฤทธิ์ เลขานุการในพระองค์ที่ตามเสด็จครั้งนั้น เล่าว่าทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ในเวลาว่าง เมื่อถึงเวลาพิมพ์ มีพระราชประสงค์ไม่ให้ผู้ใดทราบว่าเป็นหนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์ จึงใช้พระนามแฝงว่า หนานแก้วเมืองบูรพ์ โดยคำว่า “หนาน” หมายถึง ผู้ที่เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ในภาษามณฑลพายัพ “แก้ว” หมายถึง วชิราวุธ และ “เมืองบูรพ์” หมายถึง พระอิสริยยศ กรมเทพทวารวดี นอกจากนี้ ยังมีผู้แต่งร่วมอีก ๓ คน ซึ่งเป็นข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ คือ หม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ ใช้นามแฝงว่า น้อย สบจินดา พระยาบำเรอบริรักษ์ ใช้นามแฝงว่า หนานขวาย และพระยาสุรินทราชา ใช้นามแฝงว่า นายมยูร
ลลิตพายัพ เป็นพระราชนิพนธ์ที่แต่งด้วยโคลงและร่าย บรรยายเกี่ยวกับบรรยากาศ สภาพดินแดนล้านนา เส้นทางการเสด็จพระราชดำเนิน สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาด้านคมนาคม ด้านการศึกษา และการกระจายความเจริญจากส่วนกลางไปสู่หัวเมือง รวมทั้ง สอดแทรกตำนานพื้นเมืองของสถานที่ที่เสด็จพระราชดำเนิน เช่น ตำนานพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ ตำนานหลักเมืองหรือตำนานเสาอินทขิล จังหวัดเชียงใหม่ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ตำนานพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าและวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ขอร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หนังสือพระบารมีปกเกล้าฯ ยุพราชวิทยาลัย ๑๐๐ ปี นามพระราชทาน นครเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ การพัฒนา การศึกษา และสังคมนครเมืองเชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๕๑๐. ลิลิตพายัพ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร: มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย. (มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐).
๒. โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย. ๒๕๕๐. พระบารมีปกเกล้าฯ ยุพราชวิทยาลัย ๑๐๐ ปี นามพระราชทาน นครเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ การพัฒนา การศึกษา และสังคมนครเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์.
๓. วศวรรษ สบายวัน. ๒๕๖๑. “การใช้เวลาในการเล่าเรื่องในลิลิตพายัพ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.” HOSO Journal of Humanities and Social Sciences. ๒(๒): ๙๗-๑๓๐.