ยี่เป็ง
จำนวนผู้เข้าชม 5044

ประเพณียี่เป็ง ตรงกับวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (เดือนสิบสองของภาคกลาง) หนึ่งในประเพณีสิบสองเดือนของล้านนา เป็นวันพระและวันสุดท้ายของการทอดกฐิน หรือครบ ๓๐ วันหลังวันออกพรรษา ประเพณียี่เป็งเป็นประเพณีที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของชาวล้านนา
ก่อนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ชาวล้านนาจะเตรียมอาหารทำบุญ ดอกไม้ธูปเทียน สำหรับไปวัดและทานขันข้าว แขวนโคมประดับประดาบ้านเรือน ทำซุ้มประตูป่า เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ช่วงเช้า ชาวล้านนาจะเข้าวัด ใส่บาตร ฟังเทศน์ ทานขันข้าวบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ปล่อยโคมควัน สำหรับในช่วงกลางคืน จะเข้าวัดอีกครั้ง เพื่อนำผางประทีปไปจุดที่วัด แล้วกลับมาจุดผางประทีปบริเวณต่าง ๆ ในบ้าน เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์และรำลึกถึงบุญคุณของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีการเล่นดอกไม้ไฟบนฝั่งแม่น้ำหรือที่บ้าน และปล่อยโคมไฟ ถือเป็นประเพณีสนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนา ต่อมา ได้มีการนำวัฒนธรรมการลอยกระทงผนวกเข้าไปในประเพณียี่เป็งด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาจัดตั้งสำนักงานที่จังหวัดเชียงใหม่และสนับสนุนให้ประเพณียี่เป็งเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยส่งเสริมการลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจังและร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ มีการจัดประกวดขบวนกระทงเล็ก ขบวนกระทงใหญ่ รวมทั้งการจัดประกวดขบวนโคมยี่เป็งของสมาคมผู้ประกอบการย่านไนท์บาร์ซาร่วมด้วยอีกหนึ่งวัน
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : สำนักข่าวเห็ดลม
อ้างอิง :
๑. ปลายอ้อ ทองสวัสดิ์.  ๒๕๖๒. “ยี่เป็ง พุทธบูชา.” ใน วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ (บรรณาธิการ).  เชียงใหม่ นครแห่งอมต. เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, ๑๓๓-๑๓๗.
๒. ศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว. ๒๕๕๗. “ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ จากการสักการะในเดือนยี่ สู่ประเพณีเพื่อการท่องเที่ยว.” เวียงเจ็ดลิน  ๔ (๒): ๔-๘.