พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จากวัดท่าปลา เหนือเขื่อนสิริกิติ์
จำนวนผู้เข้าชม 4391

เรื่อง “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จากวัดท่าปลา เหนือเขื่อนสิริกิติ์”
--- พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรองค์นี้ ได้จากโบสถ์วัดท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ในรายงานการสำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุสถานเหนือเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวว่า “ภายในโบสถ์มีพระประธานหน้าตักกว้าง ๑.๘๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นพระหัตถ์ถือตาลปัตร ด้านขวาของพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร....”
--- สืบเนื่องจากในปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ กรมศิลปากรได้รับแจ้งว่า พระอุโบสถและวิหารวัดจริม วัดท่าปลา และวัดนาโฮ่ง อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์จะถูกน้ำท่วมเมื่อเปิดใช้งานเขื่อนสิริกิติ์ ตามกำหนดที่จะทำการปิดกั้นกระแสน้ำ ในประมาณกลางปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ จึงขอให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจตรวจค้นโบราณวัตถุที่อาจถูกฝังอยู่ใต้พระอุโบสถและพระวิหาร  ในพื้นที่ดังกล่าว  ในระยะแรกหน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย (ในขณะนั้น) ได้เริ่มสำรวจและขุดค้น วัดทั้งสามแห่งดังกล่าวมา ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ - ๑๑ มกราคม ๒๕๑๔  ต่อมาพบว่ามีวัดที่ควรดำเนินการขุดค้นอีก ๓ แห่ง ได้แก่ วัดท่าแฝก วัดหาดลั้ง และวัดห้วยอ้อย จึงดำเนินการขุดค้นในระยะที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑๙  - ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔  และหลังจากการขุดค้น จึงได้มีการสำรวจถ่ายภาพและทำแผนผังวัดอื่นๆ ในเขตพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มเติมอีก ๑๒ แห่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔  ครอบคลุมพื้นที่ ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าปลา ตำบลจริม ตำบลหาดหล้า และตำบลท่าแฝก
--- วัดท่าปลาในอดีตตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ อุโบสถ ๑ หลัง ลักษณะเป็นอาคารทรงเตี้ย เสา ๘ ต้น ๓ ห้อง หลังคาชั้นเดียว มุงด้วยสังกะสี มีลดหลังคายื่นตรงส่วนหน้าของตัวโบสถ์  มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ขนาดกว้าง ๑.๘๕ เมตร สูง ๑.๘๕ เมตร ผนังโบสถ์ก่ออิฐ ถือปูน มีหน้าต่างและลูกกรงไม้ จำนวน ๔ ช่อง มีเสมารอบโบสถ์ทั้ง ๘ ทิศ  จากการขุดค้นภายในโบสถ์ที่ใต้แท่นฐานพระประธาน พบเงินตรา เช่น เงินพดด้วง เงินเหรียญต่างๆ และขุดพบลูกนิมิต ๔ ลูก วางซ้อนกันอยู่กลางพระอุโบสถ
--- พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ศิลปะอยุธยา กำหนดอายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ทำจากไม้ ลงรักปิดทอง ขนาดกว้าง ๔๖ เซนติเมตร สูง ๑๖๘ เซนติเมตร  องค์พระพุทธรูปประทับยืน ยื่นพระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรไว้ทางด้านหน้า พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเป็นสัน พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระอังสาผาย บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มคลุม  แลเห็นแนวเส้นรัดประคดและชายพับขอบสบงขนาดใหญ่ทางด้านหน้า
--- ปางอุ้มบาตร เป็นชื่อเรียกลักษณะของพระพุทธรูป ในท่ายืน และพระหัตถ์ทั้งสองประคองถือบาตร และพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรยังเป็น ๑ ในพระพุทธรูปประจำวันเกิด วันพุธ (กลางวัน) อีกด้วย   
--- ความเป็นมาตามพุทธประวัติของพระพุทธรูปปางนี้ คือ เมื่อพระพุทธเจ้าได้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์  เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าพระประยูรญาติทั้งหลาย เพื่อให้พระญาติผู้ใหญ่ได้เห็น และละทิฐิถวายบังคมแล้วจึงได้ตรัสเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก ครั้นแล้วพระญาติทั้งหลายก็แยกย้ายกันกลับโดยไม่มีใครทูลอาราธนาฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น ด้วยเข้าใจผิดคิดว่า พระองค์เป็นราชโอรสและพระสงฆ์ก็เป็นศิษย์ คงต้องฉันภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้ในพระราชนิเวศน์เอง แต่พระพุทธองค์กลับพาพระภิกษุสงฆ์สาวกเสด็จจาริกไป ตามถนนหลวงในเมืองเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ (ผู้ที่พึงสั่งสอนได้) อันเป็นกิจของสงฆ์ และนับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้มีโอกาสชมพระพุทธจริยาวัตรขณะทรงอุ้มบาตรโปรดสัตว์ ประชาชนจึงต่างแซ่ซ้องอภิวาทอย่างสุดซึ้ง แต่พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาทรงทราบเข้า ก็เข้าใจผิดและโกรธพระพุทธองค์หาว่าออกไปขอทานชาวบ้าน ไม่ฉันภัตตาหารที่เตรียมไว้ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงอธิบายว่าการออกบิณฑบาตเป็นการไปโปรดสัตว์  มิใช่การขอทาน จึงเป็นที่เข้าใจกันในที่สุด
--- ปัจจุบัน พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จากวัดท่าปลา เหนือเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์องค์นี้ ได้จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการชั้นบนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่างๆ. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๘.
- พัชรินทร์ ศุขประมูล และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่านและจังหวัดน่าน. กรมศิลปากร, ๒๕๔๗.
- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่างๆ. กรมศิลปากร, ๒๕๓๕.
- หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย. รายงานการสำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุสถานเหนือเขื่อนสิริกิติ์.เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๑๔.