พระคง
จำนวนผู้เข้าชม 10846

พระคง
พระคง เป็นหนึ่งในพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของเมืองลำพูน วัสดุเป็นดินเผา
รูปทรงมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย พระเศียรโล้น
ไม่มีพระเกตุมาลา ครองจีวรห่มคลุมเรียบบางแนบพระวรกาย  ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานมีกลีบบัวที่คลี่คลายเป็นลายจุดไข่ปลาขนาดเล็ก
รองรับด้วยฐานเรียบอีกชั้นหนึ่ง รอบพระวรกายมีประภาวลี หรือรัศมีที่เป็นเส้นรอบพระวรกาย เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มปรกโพธิ์ ลักษณะรูปแบบของพระคง เป็นพระพิมพ์ขัดสมาธิเพชรที่อาจได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปในศิลปะพุกามที่มีอิทธิพลจากพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียแบบปาละและคุปตะปรากฏในงานศิลปกรรม เช่น พระพุทธรูป และพระพิมพ์ชนิดอื่นๆในวัฒนธรรมหริภุญไชย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
พระคง ตามประวัดิที่กล่าวถึงส่วนใหญ่ต่างกล่าวว่า พบที่วัดพระคงฤๅษี อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน นอกกำแพงเมืองลำพูนไปทางทิศเหนือ ตามตำนานที่เขียนขึ้นในสมัยหลัง กล่าวถึงการสร้างอารามของพระนางจามเทวี
คือวัดอาพัทธาราม ด้านทิศเหนือของเมืองหริภุญไชย แต่จากสภาพปัจจุบันของวัดได้รับการบูรณะใหม่แล้ว ในบริเวณวัดแห่งนี้เคยมีการขุดพบพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ที่บริเวณฐานเจดีย์ประธาน
และปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พบเป็นจำนวนมากที่บริเวณหลังวัด นอกจากการพบพระคงในบริเวณวัดนี้แล้ว ยังมีการขุดพบในแหล่งโบราณสถานเวียงกุมกาม
วัดกานโถมหรือวัดช้างค้ำ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ราว พ.ศ.๒๕๒๗  ร่วมกับพระพิมพ์ศิลปะหริภุญไชยรูปแบบอื่นๆ
อ้างอิง
บัณฑิต  เนียมทรัพย์. “พระพิมพ์ที่พบในจังหวัดลำพูน” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.
ผาสุข อินทราวุธ. รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาร่องรอยอารยธรรมโบราณจากหลักฐานโบราณคดีในเขต จ.ลำพูน ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๖.                                             
สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๗           
อัศวี ศรจิตติ. “พระพิมพ์สกุลลำพูน”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๑.