รำตง...วัฒนธรรมกะเหรี่ยง
จำนวนผู้เข้าชม 3785

          รำตงนอกจากจะเป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้สังคมของชาวกะเหรี่ยงเติมเต็มทางด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้ยังมีลักษณะเด่นและความน่าสนใจในด้านที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา โดยมุ่งเน้นไปที่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหลายได้ซึมซับเอาคุณค่าความดีงามในคติธรรม ตลอดจนแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติธรรมเรื่องการสร้างความสามัคคี อันเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีให้กับกลุ่มชน อีกทั้งยังเป็นทางออกและทางต่อสู้สำหรับความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นการกล่อมเกลาจิตใจและปลูกฝังความดีงามให้กับลูกหลาน
          วันนี้แม้มีเพียงแค่คนกลุ่มน้อยที่จะได้ชมการแสดงรำตงของชาวกะเหรี่ยง แต่สำหรับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงเองแล้ว การแสดงรำตงถือเป็นภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงคนในชุมชนให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เชื่อมโยงคนกับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่แสดงถึงภูมิปัญญาในการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เป็นวิถีการแสดงออกที่สอดคล้องกับความเป็นไปในสังคม
          การแสดงรำตงที่นำไปแสดงในทุกครั้งจะต้องผ่านการสร้างสรรค์ด้วยความประณีตบรรจง รูปแบบของการแสดงต้องผ่านกระบวนการอันละเอียดอ่อน ทั้งนี้เพื่อให้คุณค่าของงานเป็นการตอบสนองผู้สร้างสรรค์ที่ต้องการมอบสิ่งดีๆให้กับสังคมสมกับเจตนารมณ์ของผู้สร้างงานที่มิได้หวังผลทางด้านธุรกิจอื่นใด
          สิ่งสำคัญอีกประการของความสำคัญในการแสดงรำตง คือ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนนักอนุรักษ์ ทั้งในด้านเอกลักษณ์และจารีตประเพณี การแสดงรำตงยังคงปรากฏถึงจารีตปฏิบัติ อันถือเป็นธรรมเนียมสำคัญได้แก่ การบูชาในสิ่งที่ควรแก่การบูชา ในที่นี้คือ การบูชาแม่พระโพสพในพิธีกรรมทำบุญข้าวใหม่ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงให้ความสำคัญในฐานะที่เป็น เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมโดยตรง ดังนั้นพวกเขาจึงทำการบูชาด้วยการมอบสิ่งที่ดีต่อผู้มีพระคุณ และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคม




















-----------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นางภควรรณ คุณากรวงศ์ บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
-----------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
ณัฐกานต์ บุญศิริ. การแสดงพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง : กรณีศึกษารำตงบ้านใหม่พัฒนา อำเภอสังขละบุรี จังหวัด กาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. ปรียา ดวงเที่ยง (และคนอื่นๆ). การแสดงรำตงของชาวไทยเชื้อสายกระเหรียงโป บ้านห้วยดินดำ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. ศิลปนิพนธ์ ( ศศ.บ) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. 2551. สรุปผลการจัดกิจกรรม : การจัดพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านตะเพินคี่. สุพรรณบุรี : ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอด่านช้าง. 2550. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “รำตง วัฒนธรรมกะเหรี่ยง” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://www.prapayneethai.com (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี. การแสดงรำตง.. สุพรรณบุรี : สำนักงานฯ , 2550.