ปราสาทเขาโล้น : ทับหลังและซุ้มประตูด้านตะวันออกของปราสาทประธาน
จำนวนผู้เข้าชม 1749

          เป็นที่ทราบกันดีว่าภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ได้รับการตีพิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ ในหนังสือ “ศิลปสมัยลพบุรี” โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งภาพถ่ายนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการทวงคืนทับหลังชิ้นนี้กลับสู่ประเทศไทย นอกจากนี้หน่วยศิลปากรที่ ๕ กรมศิลปากร ได้เคยบันทึกภาพทับหลังปราสาทเขาโล้นไว้เมื่อราวพุทธศักราช ๒๕๐๓ ด้วยเช่นกัน
          ภาพถ่ายทั้งสองครั้งนั้นทำให้ทราบว่าทับหลังที่ซุ้มประตูด้านตะวันออกของปราสาทเขาโล้น ประกอบด้วยเทวดานั่งชันเข่าบนเกียรติมุข (หน้ากาล) ใต้ลิ้นของเกียรติมุขมีท่อนพวงมาลัยแยกออกทั้งสองด้าน ปลายท่อนพวงมาลัยขมวดเป็นวงโค้งสลับกัน จัดเป็นทับหลังศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบาปวนตอนต้น ซึ่งปัจจุบันรูปเทวดาได้ถูกกะเทาะหายไป
          นอกจากทับหลังแล้ว ส่วนประกอบซุ้มประตูทำจากหินทราย ได้แก่ แถวกลีบบัวเหนือทับหลัง ซึ่งมี ๒ ชิ้นนั้น สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้พบชิ้นที่เคยประดับด้านบนขวาของทับหลังจากการขุดแต่งปราสาทเขาโล้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ดังที่ได้นำเรียนไปแล้วในบทความตอนที่ ๒ เสาประดับกรอบประตู แปดเหลี่ยม สลักลวดลายที่กำหนดอายุได้ในศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบเกลียง ปัจจุบันยังไม่พบว่าอยู่ที่ใด
          กรอบประตู สลักลายลวดบัวขนานกันไป ในพุทธศักราช ๒๔๔๗ เอเตียน เอโมนิเยร์ (Étienne Aymonier) ได้ระบุว่ามีจารึกภาษาสันสกฤตและเขมรบนกรอบประตูด้านเหนือและใต้ ซึ่งต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๙๗ ฌอช เซแด็ส (George Cœdès) ได้อ่าน-แปลและได้กำหนดทะเบียนเป็น K.232 เนื้อความในกรอบประตูด้านใต้ ระบุว่า ศรีมันนฤปทินทร ขุนนางของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ที่ได้มาปกครองดินแดนบริเวณนี้ ได้สร้างเทวสถาน ไว้บนภูเขา “มฤตสังชญกะ” เพื่อประดิษฐานรูปพระศัมภุ (พระศิวะ) พระเทวีและพระศิวลึงค์ (อีศลิงคะ) เมื่อมหาศักราช ๙๒๙ (พุทธศักราช ๑๕๕๐) ซึ่งจากการขุดค้นของกรมศิลปากรก็พบว่าปราสาทเขาโล้น เป็นปราสาท ๓ หลัง ดังที่ได้นำเรียนไปแล้วในบทความตอนที่ ๑ ดังนั้นปราสาทเขาโล้นจึงเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายหรือนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่
          ส่วนกรอบประตูด้านเหนือระบุว่าในมหาศักราช ๙๓๘ (พุทธศักราช ๑๕๕๙) พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ มรตาญโขลญศรีวีรวรมัน มาประดิษฐาน “เสาจารึก” ที่ “ภูเขาดิน” หมายถึงภูเขา “มฤตสังชญกะ” แห่งนี้ ปัจจุบันกรอบประตูทั้งด้านเหนือและใต้นี้ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้สำรวจและให้ทะเบียนกรอบประตูด้านเหนือเป็น จารึกวังสวนผักกาด (กท.๕๓) และกรอบประตูด้านใต้เป็นจารึกวังสวนผักกาด ๒ (กท.๕๔)
          อย่างไรก็ตามกรอบประตูทั้งสองชิ้นนี้แตกหัก จึงได้พบชิ้นส่วนกรอบประตูจากการขุดค้นด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกรอบประตูทั้ง ๒ ชิ้นนี้มาติดตั้งในตำแหน่งเดิมได้ ในการบูรณะจึงได้เสริมกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย ร่วมกับกรอบประตูชิ้นบนที่พบบริเวณปราสาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับติดตั้ง ทับหลังในอนาคต ดังที่ได้นำเรียนไปแล้วในบทความตอนที่ ๓


ภาพที่ ๑ ทับหลังปราสาทเขาโล้น ในขณะที่จัดแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มา: Asian Art Museum Online Collection


ภาพที่ ๒ ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ที่มา: หนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี


ภาพที่ ๓ ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น


ภาพที่ ๔ ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ภาพที่ ๕ แถวกลีบบัวเหนือทับหลัง พบจากการขุดค้น




ภาพที่ ๖ และ ๗ ปราสาทเขาโล้น หลังการอนุรักษ์