ผลการตรวจสอบการพบหลักฐานแหล่งโบราณคดีแบบใหม่คล้ายหินตั้งตามที่ได้รับแจ้งข้อมูล บริเวณบ้านนาราก ตำบลอรพิมพ์ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ประกาศ : 11/10/2564 00:00 น. จำนวนผู้เข้าชม 430

ผลการตรวจสอบการพบหลักฐานแหล่งโบราณคดีแบบใหม่คล้ายหินตั้งตามที่ได้รับแจ้งข้อมูล บริเวณบ้านนาราก ตำบลอรพิมพ์ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
-พื้นที่ที่พบหลักฐาน อยู่ในเขตบ้านนาราก หมู่ ๓ ตำบลอรพิมพ์ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีการปลูกพืชผักสวนครัวและต้นไม้ขนาดเล็กในที่ดิน ที่มาของการพบหลักฐาน โดยผู้ครอบครองที่ดินได้ให้ข้อมูลว่าตนเองและชาวบ้านในพื้นที่ได้พบเห็นหลักฐานดังกล่าวนี้มานานหลายสิบปีแล้ว สืบเนื่องจากกิจกรรมในการไถพรวนปรับดินเพื่อเพาะปลูกในพื้นที่อยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่มีใครได้สนใจอะไร จนกระทั่งหลานชายได้เข้ามาถ่ายภาพหลักฐานและนำข้อมูลไปเผยแพร่ในสื่อเฟสบุ๊ค จนเป็นที่มาของการตรวจสอบครั้งนี้
-หลักฐานที่พบเป็นลักษณะของบ่อรูปทรงกลม จำนวนประมาณ ๖ – ๗ บ่อแต่พบว่ามีรูปทรงค่อนข้างสมบูรณ์จำนวน ๒ บ่อ ส่วนอีก ๔ – ๕ บ่อนั้นชำรุดแตกหัก และมีการขนย้ายมากองทับถมกัน บ่อที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘๕ และ ๑๒๕ เซนติเมตร ขอบบ่อก่อด้วยดินและมีส่วนผสมของปูนรวมอยู่ด้วย สภาพปัจจุบันอยู่สูงขึ้นมาจากพื้นดินประมาณ ๑๐ – ๒๐ เซนติเมตรไม่สามารถตรวจสอบความลึกได้ เนื่องจากภายในพื้นที่ตรงกลางของบ่อ มีดินและต้นไม้ทับถมอยู่ ที่บริเวณขอบบ่อด้านในมีคราบของปูนสีขาวเคลือบอยู่ จากการตรวจสอบบริเวณที่พบหลักฐานได้พบหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้แก่ ก้อนหินปูนสีขาว ๑ ก้อน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘.๕ เซนติเมตร
-ข้อมูลจากการสัมภาษณ์สรุปข้อมูลได้ในภาพรวมว่า บ่อดังกล่าวนี้เป็นบ่อหรือเตาที่ใช้ในการผลิตปูนกินหมาก ซึ่งมีการทำในพื้นที่นี้เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ในระยะเวลาช่วงอายุของนางแอ๋วประมาณ ๗๐ กว่าปีที่ผ่านมานั้น ไม่เห็นว่ามีการผลิตกันแล้ว ข้อมูลที่ได้จึงเป็นข้อมูลที่เล่าสืบต่อกันมาจากผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเล่ากันมาว่าคนในอดีตรุ่นพ่อ แม่ ใช้พื้นที่ในการผลิตปูนกินหมาก โดยใช้ดินและปูนก่อและปั้นเป็นขอบบ่อหรือเตารูปทรงกลมขึ้น จากนั้นจะมีการนำก้อนหินปูนทรงกลมซึ่งมีส่วนผสมต่างๆ คลุกเคล้ารวมกันและปั้นเป็นก้อน ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าประกอบด้วยวัตถุดิบอะไรบ้าง แต่ที่พอจะทราบชัดเจนคือส่วนผสมที่สำคัญ ได้แก่หินปูนสีขาว จากนั้นจะนำก้อนหินปูนมารวมในเตาและมีการใช้ความร้อนทำให้ก้อนปูนแตกเป็นผง จากนั้นจะผ่านกระบวนการกวน คลุกเคล้าให้ส่วนผสมต่างๆ กลายเป็นของเหลวที่มีความหนืด ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีการใช้น้ำเป็นส่วนผสมด้วย เมื่อกวนคลุกเคล้าจนได้ที่แล้ว จะได้ผลิตภัณฑ์ปูนกินหมากที่มีสีขาว จากนั้นจะตักขึ้นไปผสมคลุกเคล้ากับสีต่างๆ ตามแต่ต้องการ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสีแดง จากนั้นจึงตักแบ่งใส่บรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปขายในตลาดต่างถิ่นหรือนำไปกินกับหมากในพื้นที่ชุมชน
-จากข้อมูลโดยสรุป พิจารณาแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นแหล่งโบราณคดีที่พบหลักฐานสำคัญและมีปริมาณมากพอ ที่จะแสดงถึงกิจกรรมการอยู่อาศัยของคนในอดีตในช่วงระยะยาวนานหรือผ่านระยะเวลามายาวนาน เป็นเพียงแหล่งหรือสถานที่ประกอบกิจกรรมในลักษณะการผลิตวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนของคนในช่วงระยะเวลาเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา
นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ