ที่มาของคำว่า “ป๋า”
จำนวนผู้เข้าชม 1687

          เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ พันตรี เปรม ติณสูลานนท์ จบการศึกษาวิชาทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา ท่านจึงได้รับการบรรจุให้เป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษาโรงเรียนทหารยานเกราะ ทั้งที่จริงแล้วท่านมีความใฝ่ฝันจะเป็นผู้บังคับบัญชาทหารมากกว่าจะเป็นอาจารย์
          หลังจากการเป็นอาจารย์สอนวิชาทหารอยู่ระยะหนึ่ง ความใฝ่ฝันของท่านก็เป็นความจริง เมื่อท่านได้รับความไว้วางใจ จากผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๕ กรมทหารม้าที่ ๒ และยังคงรักษาราชการอาจารย์แผนกวิชาทหาร กองการศึกษาโรงเรียนยานเกราะ ควบคู่กันไปอีกตำแหน่งหนึ่ง
          ท่านพอใจในตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองพันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด ท่านเคยเล่าให้ผู้เกี่ยวข้องฟังว่า “ ...ผมว่าที่สนุกที่สุดและได้ใช้ความรู้ ความสามารถทั้งในด้านบริหาร และด้านยุทธการเป็นผู้บังคับกองพันดีที่สุด เป็นงานที่กำลังน่าทำที่สุดเป็นงานที่มีเรื่องที่เราจะทำมาก ผู้บังคับกองร้อยอาจจะเล็ก และแคบเกินไป เป็นผู้บังคับการกรมก็สูงเกินไป เป็นผู้บังคับกองพันนี้สนุกทำอะไรของตัวได้ ถ้าใช้ความสามารถของตัวเองมากเป็นระดับที่น่าสนใจ...”
          เมื่อท่านได้มาเป็นผู้บังคับบัญชาของเหล่าทหารม้า ท่านได้ปรับวิธีการทำงาน สร้างความสำนึกให้รู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างใน การทำงาน ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติตามท่าน ท่านดูแลเอาใจใส่การปฏิบัติงานของลูกน้องอย่างใกล้ชิด ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า การทำงานในหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญ ใครจะหลีกเลี่ยงหรือเกียจคร้านไม่ได้
          นอกจากวิธีทำงานที่เข้มงวด และเอาจริง เอาจังแล้ว ท่านยังเป็นทหารที่มีความซื่อสัตย์ ใช้ชีวิต เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ให้ความรักและดูแลผู้ใต้บัญชาเป็นอย่างดี ใครมีปัญหาอะไรในการทำงานหรือเรื่องอื่นๆ ท่านก็จะช่วยเหลือแก้ไขให้ จึงเป็นที่ศรัทธารักใคร่นับถือของลูกน้องกลายเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่น ระหว่างกัน คำที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเรียกขานท่านว่า “ป๋า” ก็มาจากเหตุผลดังกล่าว
          พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จึงเป็น “ป๋า” ผู้สง่างามของบรรดาทหาร ในเหล่าทหารม้า ทหารเหล่าอื่น และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
















-----------------------------------------------------------
เรียบเรียง : นายบัณฑิต พูนสุข นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
-----------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา. คนดี ศรีแผ่นดิน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เล่มที่ ๒ ป้องกัน