ถนนเจริญกรุง
จำนวนผู้เข้าชม 7055

          ถนนเจริญกรุง นับเป็นถนนสายแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งก่อสร้างเพื่อใช้ในการสัญจรภายในเขต ใจกลางเมือง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ.๒๔๐๔ – ๒๔๐๗ มีนายเฮนรี อลาบาสเตอร์ เป็นผู้สำรวจและเขียนแบบถนน เจ้าพระยาทบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างถนนเจริญกรุงช่วงคูเมืองตอนในถึงถนนตก เจ้าพระยายมราช(ครุฑ) เป็นแม่กองในการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน ระหว่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน)
          ถนนเจริญกรุงมีระยะความยาวของเส้นทางเริ่มตั้งแต่สนามไชยถึงถนนตก ยาว ๘,๕๗๕ เมตร ถนนสายดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อสามัญว่า “ถนนใหม่(New Road)” ในพระราชปรารถเรื่องถนนเจริญกรุง ในรัชชกาลที่ ๔* กล่าวถึงว่า “...ชาวต่างประเทศเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถให้สบาย ให้ถูกลมเย็นเส้นสายเหยียดยืดสบายดี...” โดยสร้างเป็นถนนถมดินและทรายอัดแน่น ปูพื้นผิวถนนด้วยอิฐ ผิวการจราจรแบ่งเป็นสองแนว ครั้นเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้งานเมื่อพ.ศ.๒๔๐๗ กลับปรากฏว่า “...คนใช้ม้าทั้งไทย ทั้งชาวนอกประเทศกี่คน ใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มสนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนสนนอีกข้างหนึ่ง ก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้าเดินรถ เดินเท้า...ครึ่งหนึ่งของสนน เพราะไม่มีคนเดิน คนใช้ก็ยับไปเสียก่อน หากว่าปีนี้ ไม่มีฝน ถ้าฝนชุกก็เห็นจะยับไปมาก ฤาหญ้าก็จะขึ้นรกอยู่ค่างหนทาง...”
          ความกังวลพระทัยนั้น เป็นผลต่อมาเมื่อถนนเจริญกรุงชำรุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนักฝ่ายหน้า ฝ่ายในส่วนพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในจำนวนปีมะเส็งนพศกแบริจากทรัพย์นั้นเพื่อการซ่อมแซมถนนทั่วพระนคร
          ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น ถนนเจริญกรุงจึงเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งที่เชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยหลังได้มีการขยายผิวการจราจรและเทคอนกรีตและลาดยางพื้นผิวการจราจรเพื่อการงานเป็นเส้นทางคมนาคมสืบมาถึงปัจจุบัน


ถนนเจริญกรุง ค.ศ. 1896



ถนนเจริญกรุง พ.ศ. ๒๔๐๗

-----------------------------------------------------------------------
เรียบเรียง : เมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดี ชำนาญการ กองโบราณคดี
-----------------------------------------------------------------------
*อ้างอิงจาก
กรมศิลปากร. ทำเนียบนามภาค ๔ ถนนในจังหวัดพระนครและธนบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตีพิมพ์พระราชทานในงานเมรุ มหาอำอาตย์นายก เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงธรรม, ๒๔๘๒) หน้า ๖๓ – ๖๖)