"เปียโนจุฑาธุช" เปียโนคู่แห่งสยาม
จำนวนผู้เข้าชม 4574

          เปียโน เป็นเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด (Keyboard Instruments) มีลิ่มนิ้วหรือแป้นนิ้วสำหรับเคาะหรือดีดให้ค้อนไปตีสาย ทำให้เกิดเป็นเสียงขึ้นมา พัฒนามาจากเครื่องดนตรีในสมัยก่อนหลายชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น พัฒนาระบบสายมาจากคลาวิคอร์ด รูปร่างและระบบแป้นนิ้วจากฮาร์ฟสิคอร์ด ความพิเศษของเปียโนนั้นสามารถทำให้เสียงดังขึ้นและเบาลงได้ในตัวเอง จึงเป็นที่มาของชื่อเดิมที่เรียกว่า Piano Forte เปียโนหลังแรกดัดแปลงและประดิษฐ์โดย บาโตลัมมิโอ คริสโตเฟอรี่ (Bartolommeo Cristofori, ๑๖๕๕ – ๑๗๓๐) ชาวอิตาลี ภายหลังได้พัฒนาไปเป็นเปียโนขนาดต่างๆ มีการสร้างขึ้นเพื่อความสวยงามตระการตา เพื่อใช้เป็นทั้งเครื่องดนตรีและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการนำเปียโนเข้ามาเมื่อ ยุคสมัยใด แต่ก็พบหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ มิชชันนารีได้มีการนำเปียโนเข้ามาใช้กันแล้ว สมัยนั้นคนไทยเรียกกันว่า “หีบเพลง”
          หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ เก็บรักษาเครื่องดนตรีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “เปียโนจุฑาธุช” หรือเปียโนคู่ (Double Piano) ซึ่งเป็นเปียโนที่มีความเก่าแก่และหายาก มีอายุมากกว่าร้อยปี แม้พิพิธภัณฑ์ เครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุโรปหลายแห่ง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ก็ไม่พบว่าได้เก็บรักษาและจัดแสดงเปียโนลักษณะดังกล่าวนี้ไว้
          เปียโนคู่หลังนี้ เดิมเป็นพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๖ จึงนิยมเรียกว่า “เปียโนจุฑาธุช” ทรงสั่งซื้อเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๕๙ เพื่อใช้เป็นการส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้นำขนส่งทางเรือมายังประเทศไทยเมื่อท่านได้สำเร็จการศึกษาแล้ว


ภาพโฆษณา Piano-Double Pleyel จากนิตยสาร “L’illustration” ในปี ค.ศ. ๑๘๙๗ เป็นเปียโนคู่ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดย Gustave Lyon ลักษณะรูปทรงของเปียโนคู่จากภาพโฆษณานี้ มีความใกล้เคียงกับเปียโนจุฑาธุชเป็นอย่างมาก

          เปียโนจุฑาธุช เป็นหนึ่งในเปียโนที่ผลิตขึ้นเป็นคอลเลคชันพิเศษของเพลเยล (Pleyel) กล่าวกันว่าผลิตขึ้นเพียง ๘ หลังเท่านั้น โดยแต่ละหลังจะมีหมายเลขกำกับ ซึ่งหมายเลขของเปียโนคู่หลังนี้ คือหมายเลข ๑๕๒๙๑๙พัฒนาขึ้นโดย กุสตาฟว์ ลิญง (Gustave Lyon) นักประดิษฐ์เปียโนและผู้สืบทอดกิจการผลิตเปียโนของเพลเยล โดยมีแนวคิดในการออกแบบเปียโนเพื่อให้นักเปียโนสองคนสามารถบรรเลงเปียโนตัวเดียวกันพร้อมกันได้ เปียโนคู่หลังนี้คาดว่าผลิตในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ (ค.ศ. ๑๘๙๖) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยบริษัทเพลเยล (Pleyel Company) ผู้มีชื่อเสียงในการผลิตเปียโนให้นักดนตรีชั้นนำระดับโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๐ (ค.ศ. ๑๘๐๗) อาทิ Chopin, Debussy, Grieg, Mendelssohn, Ravel เป็นต้น
          ลักษณะพิเศษของเปียโนคู่หลังนี้คือเป็นเปียโนหลังเดียวแต่มีสองหน้า มีสายสองชุดที่ขึงแบบไขว้ โดยใช้ซาวน์บอร์ด (Soundboard) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กระจายเสียงของเปียโนร่วมอยู่ในโครงเปียโนเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอกคล้ายกับการนำเปียโนสองหลังมาหันหน้าชนกัน ผู้เล่นนั่งเล่นกันคนละฝั่ง โดยหันหน้าเข้าหากัน

ลักษณะของสายสองชุดที่ขึงแบบไขว้ ภายในเปียโนคู่ ใช้ซาวน์บอร์ด (Soundboard) ร่วมในโครงเปียโนเดียวกัน

          ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ ทรงสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดฯ ให้นำเปียโนหลังนี้ไปเก็บไว้ที่วังพญาไท ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งแผนกเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้นในกรมมหรสพหลวง ที่สวนมิสกวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานเปียโนคู่นี้ให้แก่วงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวงเพื่อใช้ในกิจการของวง โดยศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์เป็นผู้รับสนองพระราชดำริและใช้สอนถ่ายทอดวิชาดนตรีให้แก่ศิษย์ และได้ดูแลสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่ครั้ง วงเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้นอยู่กับกรมมหรสพ จนมาเป็นวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร เปียโนหลังนี้จึงตกทอดเป็นสมบัติของกรมศิลปากร ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนวิชาดนตรีสากลในโรงเรียนนาฏศิลป์อยู่ระยะหนึ่ง และต่อมาถูกส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของกองการสังคีต ภายหลังเปียโนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากจนไม่สามารถ ใช้การได้ จึงนำไปเก็บรักษาไว้บริเวณห้องฉากภายในโรงละครแห่งชาติ

สภาพของโครงร่างเปียโนคู่ที่มีร่องรอยของมดปลวก และชำรุดตามกาลเวลา


 
ซ้าย : ความงดงามของไม้ฉลุที่ใช้สำหรับตั้งโน้ตของเปียโน
ขวา : สภาพของค้อนเปียโนที่ได้รับความเสียหายจากปลวก

          ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ กรมศิลปากรร่วมกับสมาคมกิจวัฒนธรรม ได้ดำเนินการบูรณะและซ่อมอนุรักษ์เปียโนคู่ โดยการบูรณะครั้งนี้ สมาคมกิจวัฒนธรรมได้มีการรณรงค์หาทุนจากการจัดกิจกรรมให้สาธารณชนได้มีโอกาสมี ส่วนร่วมในการช่วยทำนุบำรุงรักษาสมบัติของชาติด้วยการจัดรายการ “ช้างช่วยเปียโน” ขึ้น โดยฉายหนังเรื่อง “ช้าง” ซึ่งอาจารย์บรูซ แกสตัน แห่งวงดนตรีฟองน้ำ ได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และบรรเลงสดเหมือน การฉายหนังในอดีต เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะและซ่อมอนุรักษ์เปียโน
          การซ่อมอนุรักษ์เปียโนคู่ ได้ว่าจ้างบริษัท เอส.ยู. เปียโน ซัพพลาย์ จำกัด ซึ่งมีช่างซ่อมที่มีความชำนาญ ชาวฟิลิปปินส์ คือ นาย Carvates Reamillo เป็นผู้ซ่อม โดยสั่งอะไหล่เปียโนของ Renner นำเข้าจากประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีการเดินทางไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมยังเมืองเลนินการ์ด ประเทศรัสเซีย และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการอนุรักษ์ด้วย ในการซ่อมอนุรักษ์เปียโนได้พยายามรักษาสภาพเดิมให้คงอยู่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้เวลาดำเนินการซ่อมนานถึง ๑๑ เดือน เมื่อแล้วเสร็จจึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่บริเวณชั้น ๒ ของโรงละครแห่งชาติ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๘ กรมศิลปากร ได้ส่งมอบเปียโนคู่ให้ไปเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า ด้านดนตรีต่อไป

เปียโนจุฑาธุช ที่เก็บรักษาไว้ ณ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร

          ปัจจุบันสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้เก็บรักษาเปียโนจุฑาธุช ไว้ ณ ห้องท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ชั้น ๑ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.

------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กัลยรัตน์ เกษมศรี. “เปียโนคู่และโครมาติก ฮาร์พ เครื่องดนตรีในห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร”. วารสารวิชาการหอสมุดแห่งชาติ. ๒,๑ (ม.ค. – มิ.ย. ๕๗) ๔๔ – ๔๖. “พบเปียโนโบราณ หนึ่งเดียวในโลก”. ไทยรัฐ. ๔๑, ๑๑๘๙๕ (๑๖ ส.ค. ๓๓), ๑, ๑๗. “เผยโฉมเปียโนคู่ประวัติศาสตร์ คืนสภาพสมบูรณ์”. บ้านเมือง. ๒๐, ๑๐๓๗๘ (๑๕ มิ.ย. ๓๔), ๑๕. สมาคมกิจวัฒนธรรม. มหรสพดนตรี “ช้าง” โดยวงฟองน้ำ. กรุงเทพฯ: สมาคมกิจวัฒนธรรม, ๒๕๓๓. สุกรี เจริญสุข. “เปียโนคู่โบราณของกรมศิลปากร”. ศิลปวัฒนธรรม. ๑๒,๑ (พ.ย. ๓๓), ๙๐ – ๙๕. Corbin, Paul. Pianographie n°1 Le double-Pleyel pneumatique de Gustave Lyon. [Online]. Retrieved 17 March 2021 from https://www.pianosparisot.com/wp-content/uploads/ 2017/02/Pianographie-n%C2%B01.pdf. Facteurs de pianos en France. Ignace Pleyel Brevets. [Online]. Retrieved 18 March 2021 from http://www.lieveverbeeck.eu/Pleyel_Brevets.htm. The spirit of innovation. [Online]. Retrieved 18 March 2021 from https://www.pleyel.com/en/ the-beautiful-story/the-spirit-of-innovation.