แรกนาขวัญที่เมืองพริบพรี
จำนวนผู้เข้าชม 1442

          พิธีแรกนาขวัญ หรือ"พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เป็นพระราชประเพณีสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร และเป็นสัญญาณให้เริ่มการทำนา ถือปฏิบัติมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งพุทธกาล นอกจากนี้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้ถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงเห็นความสำคัญของพิธีนี้ เมื่อถึงเวลาเริ่มการเพาะปลูกพืชผล จึงทรงประกอบพระราชกรณียกิจ โดยเป็นผู้นำในการลงมือไถหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหาร

    “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ในประเทศไทยแต่เดิมมีเพียงการประกอบพิธีตามลัทธิพราหมณ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้น เป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคล” โดยประกอบพิธีภายในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นราชประเพณีมีกำหนดสองวัน จัดขึ้นในเดือนหก วันแรกเป็นพิธีสงฆ์ วันที่สองเป็นพิธีพราหมณ์ ประกอบด้วยการจัดริ้วขบวนพระยาแรกนา การบูชาเทวรูป ตลอดจนการเสี่ยงทายผ้านุ่ง และเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง

         ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระราชพิธีพืชมงคลกระทำที่ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวงในปัจจุบัน) ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญกระทำที่ทุ่งส้มป่อย นอกพระนคร (บริเวณสนามม้าราชตฤณมัย หรือสนามม้านางเลิ้งในปัจจุบัน) โดยพระยาแรกนาขวัญกับเทพีทั้ง ๔ จะเข้าฟังพระสงฆ์สวดในปะรำพิธีพืชมงคลในวันแรกก่อน แล้วจึงไปแรกนาในวันรุ่งขึ้น

        ในหนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีแรกนาฯของหลวงในหัวเมืองไว้ด้วยดังความว่า 

 

“…ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง…” และทรงกล่าวถึงภาพบรรยากาศของพระราชพิธีนี้ไว้อย่างน่าสนใจความตอนหนึ่งว่า

 

“...ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับแล้วก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตํารวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง พันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก…”

 

ภาพ : ภาพท้องสนามหลวง ฝั่งทิศใต้มองเห็นพระบรมมหาราชวัง ด้านนี้คือบริเวณที่ประกอบพิธีแรกนาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ พระราชพิธีสิบสอง