พระพฤกษาธิบดีศรีมหาโพธิ์
จำนวนผู้เข้าชม 4066


           ต้นพระศรีมหาโพธิ์นับว่าเป็นต้นไม้มีความสำคัญในพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอน พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธคยา เมืองพาราณสี และปรากฏภาพสลักรูปบัลลังก์เปล่าใต้ต้นโพธิ์ในศิลปะอินเดียโบราณ ทั้งนี้ยังปรากฏข้อความในกาลิงคโพธิชาดก (ในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบแก่พระอานนท์ว่าให้สัญลักษณ์แทนพระองค์หลังจากปรินิพพานแล้วคือต้นไม้ ทำให้มีการปลูกต้นโพธิ์ที่เชตวันวิหารเป็นครั้งแรกสมัยพุทธกาล เกิดการเคารพบูชาต้นโพธิ์ขึ้นฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า ครั้งมีการเผยแพร่พุทธศาสนาจากอินเดียไปยังศรีลังกา ได้มีการอัญเชิญต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกยังศรีลังกา และกลายเป็นสิ่งสำคัญที่มักมีในทุกอารามในศรีลังกาดังที่ปรากฏหลักฐานเป็นอาคารหรือฐานปลูกต้นศรีมหาโพธิ์เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างสำคัญ เรียกว่า โพธิมณฑล ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาจากศรีลังกาได้เผยแพร่มายังบ้านเมืองในวัฒนธรรมสุโขทัยทั้งเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร จึงได้นำความเชื่อเรื่องการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์เข้ามา
           แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นต้นไม้ในโบราณสถานให้เห็นในปัจจุบัน แต่พบข้อความในจารึกสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงการปลูกโพธิ์ แสดงให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญกับต้นโพธิ์เช่นเดียวกับในศรีลังกา เช่น จารึกวัดศรีชุม มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีได้อัญเชิญต้นศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกามาปลูก “…พระศรีมหาโพธินครสิงหลนั้นก็ดี สมเด็จพระมหาเถรเป็นเจ้าเอามาปลูกเหนือดิน…”
          จารึกวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม ได้กล่าวถึงสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดามหาดิกลรัตนราชได้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ภายหลังการสร้างวัดแล้วเสร็จใน ๓ ปีต่อมา “…สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราช กรรโลง จึงสถิตสถาปนาปลูกพระพฤกษาธิบดีศรีมหา(โพธิ)…”
          จารึกนครชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗ – ๑๒ ความว่า “...ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราชหากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ปีนั้น พระธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานย์ คือพระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์ อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นแลผจญพลขุนมาราธิราช ได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธมาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้...” กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและการปลูกต้นศรีมหาโพธิ์นำมาจากลังกาทวีปไว้ที่เมืองนครชุม โดยพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๐
          ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร พบฐานโบราณสถานที่มีรูปแบบการก่อศิลาแลงเป็นขอบหรือกรอบเว้นตรงกลางให้เป็นลานดิน ไม่พบหลักฐานประเภทผนังอาคาร โครงสร้างหลังคา และการประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน และไม่พบโครงสร้างของฐานรากเจดีย์ภายในแต่อย่างใด จึงมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่สำหรับปลูกหรือประดิษฐานต้นโพธิ์ และพบฐานโบราณสถานรูปแบบข้างต้นในวัดดังต่อไปนี้
          วัดพระนอนพบฐานโบราณสถานรูปแบบดังกล่าวด้านตะวันตกของวัด หลังเจดีย์ประธานจำนวน ๑ แห่ง และฐานโบราณสถานด้านหลังมณฑปของวัดอีก ๑ แห่ง วัดนาคเจ็ดเศียรพบฐานโบราณสถานจำนวน ๑ แห่ง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ ซึ่งฐานโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับปลูกต้นโพธิ์ที่พบในวัดพระนอนและวัดนาคเจ็ดเศียรมีรูปแบบที่คล้ายกัน โดยพบการก่อศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเว้นตรงกลางเป็นลานดิน ด้านหน้าของฐานโบราณสถานมีศิลาแลงก่อเป็นอาสนะ (บัลลังก์) และเปรียบเทียบได้กับรูปแบบของโพธิมณฑลในศรีลังกา เช่น โพธิมณฑลที่อิสุรุมุณิยะปรากฏอาสนะเปล่าที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ หมายถึงวัชราสนะหรือบัลลังก์ตรัสรู้ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าก่อนมีการสร้างพระพุทธรูป หรือโพธิฆระ (โพธิมณฑลที่มีหลังคาล้อมรอบโคนต้น) นอกจากนี้ที่อภัยคีรีวิหารมีการประดิษฐานพระพุทธรูปไว้บนอาสนะด้วย
           วัดหมาผีพบฐานศิลาแลงก่อเป็นขอบบ่อในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน และที่วัดเพการามพบกรอบศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมที่ใช้ศิลาแลงขนาดสูง ๐.๘ เมตร ปักตั้งขึ้นเรียงกันและวางทับหลังศิลาแลงด้านบน ทั้งสองแห่งพบฐานโบราณสถานที่มีรูปแบบคล้ายกันคือมีการก่อศิลาแลงเป็นขอบเขตและเว้นตรงกลางเป็นลานดินไว้ ไม่พบอาสนะ (บัลลังก์) ด้านหน้าของฐานดังกล่าว
           ตำแหน่งของฐานโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับปลูกต้นโพธิ์ยังมีความสัมพันธ์กับข้อความในจารึกนครชุมที่ระบุตำแหน่งว่ามีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้านหลังพระธาตุอีกด้วย เนื่องจากฐานอาคารที่พบมีตำแหน่งในแนวแกนหลักของวัดและตั้งอยู่ด้านหลังของเจดีย์ประธาน ทั้งนี้นอกจากที่เมืองกำแพงเพชรแล้วที่เมืองศรีสัชนาลัยก็พบลักษณะพื้นที่สำหรับปลูกต้นโพธิ์ที่ด้านทิศตะวันตกของวัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดยายตาที่พบฐานรูปแปดเหลี่ยมด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานและยังตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของวัดเช่นกัน
          นับว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านอกเหนือไปจากงานศิลปกรรมต่าง ๆ ในพุทธศาสนาที่พบแล้วบ้านเมืองในวัฒนธรรมสุโขทัยต่างรับความเชื่อการปลูกและบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกามาพร้อมกันกับการติดต่อสัมพันธ์เพื่อรับพระพุทธศาสนาด้วย
















-----------------------------------------------------------
ที่มาของช้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
-----------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. พัชรินทร์ ศุขประมูล, วิเศษ เพชรประดับ และเมธินี จิระวัฒนา. รูปและสัญลักษณ์แห่งพระศากยพุทธ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๒. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พุทธศิลป์ลังกา. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๖. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พุทธศิลป์ไทยสายสัมพันธ์กับศรีลังกา. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๓.