การขุดค้นแหล่งโบราณคดีลำสระหัว อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
จำนวนผู้เข้าชม 1196

          ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ได้ดำเนินการโครงการศึกษาพัฒนาการของชุมชนและขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก (ส่วนที่ 3) จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อศึกษาข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ประกอบการอธิบายพัฒนาการทางสังคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี เพื่อสนับสนุนข้อมูลการจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก
          ผลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีลำสระหัว อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน ๒ หลุม ขนาด ๔x๔ เมตร ในหลุมขุดค้นที่ ๑ พบหลุมฝังศพซ้อนทับกันหลายชั้น จำนวน ๑๗ หลุมฝังศพ ลักษณะการฝังศพเป็นแบบนอนหงายเหยียดยาว ส่วนใหญ่หันศีรษะไปทางทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ หลักฐานของอุทิศที่พบร่วม ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบทรงพาน เครื่องมือเหล็ก ลูกกระพรวนสำริด และลูกปัดแก้ว ผลการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS จากตัวอย่างถ่านในระดับที่ ๘ (๑๐๐-๑๑๐ cm.dt) ได้ค่าอายุ ๓,๑๖๘ – ๒,๙๗๕ ปีมาแล้ว หรือ ๑,๒๑๙ - ๑๐๒๖ ปีก่อนคริสตกาล ส่วนหลุมขุดค้นที่ ๒ พบหลุมฝังศพ จำนวน ๖ หลุมฝังศพ หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ ภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลม ภาชนะ ดินเผาทรงหม้อมีเชิง กำไลสำริด ลูกปัดหิน ลูกแก้ว เครื่องมือเหล็กแบบจงอยปากนก และเครื่องมือเหล็กแบบสิ่ว ผลการกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านในระดับ ๑๐๘ cm.dt ได้ค่าอายุ ๒,๗๘๐ - ๒๗๒๔ ปีมาแล้ว หรือ ๘๓๑ - ๗๗๕ ปีก่อนคริสตกาล สรุปผลเบื้องต้นได้ว่า แหล่งโบราณคดีลำสระหัวเป็นที่อยู่อาศัยและที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก (ราว ๓,๑๐๐ -๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
           เพื่อศึกษาความสืบเนื่องสัมพันธ์กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองโบราณศรีเทพ และพัฒนาการของการสร้างคูน้ำ-คันดินกำแพงเมืองระหว่างเมืองนอกและเมืองใน กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ได้กำหนดแผนการดำเนินงานโครงการศึกษาพัฒนาการของชุมชน และขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อน ประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก (ส่วนที่ 3) ระยะที่ ๒ เพื่อดำเนินการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีต่อไป


----------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี