นิราศพระแท่นดงรัง
จำนวนผู้เข้าชม 1073

        เล่าเรื่องขณะที่สุนทร(ภู่) “...อาศรัยเพื่อนไปเที่ยว...” ดังมีการกล่าวถึงในคำนำ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ด้วยวันนี้ (๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓) เป็นวันที่ระลึกการประสูติของเจ้าชายสิทธัตธะ การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และการเสด็จดับขันธปรินิพาน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนหก หรือ “วันวิสาขบูชา” เพจคลังกลางฯ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่องค์ความรู้ ควบคู่กับวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในโอกาสดังกล่าว

          โดยหลักฐานในพุทธประวัติจากคัมภีร์ต่าง ๆ กอปรกับการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ตั้งอยู่ใน “ป่ารุมมินเดอี” (น่าจะเพี้ยนจากคำว่า “ลุมพินี”) บริเวณ “เมืองติลอรโกฏ” (เมืองกบิลพัสดุ์ หรือ “บุรินกระบิลพัสดุ์” ในนิราศ) ทางใต้ของประเทศเนปาลปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตรัสรู้ คือ “โพธคยา” และสถานที่ปรินิพพานคือ “กุสินารา” ในประเทศอินเดีย ซึ่งพุทธประวัติระบุว่าทรงเสด็จดับขันธ์ ณ สาลวโนทยาน (หรือ “ป่าสาลวัน” ในนิราศ) โดยปัจจุบันสถานที่ดังกล่าว ถือเป็นสังเวชนียสถานสำคัญที่ผู้คนต่างเดินทางมาแสวงบุญเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ

          อนึ่ง เมื่อกล่าวถึง “พระแท่นดงรัง” จ.กาญจนบุรีแล้ว จึงขอกล่าวถึงเรื่องราวเมื่อคราวสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมายังสถานที่แห่งนี้ มีระบุใน “สาส์นสมเด็จ” ฉ.ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๒ ความว่า “...พระแท่นดงรัง หม่อมฉันเห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวพระแท่นเท่ากับผ้าเหลืองที่เขาเอาซ้อนกองไว้บนพระแท่นเป็นรูปคล้ายกับศพคลุมผ้านอนอยู่บนนั้น ... ครั้นไปถึงแต่พอโผล่ประตูวิหารเข้าไปเห็นรูปกองผ้าเหลืองเหมือนอย่าง “พระพุทธศพ” วางบนพระแท่นก่อนสิ่งอื่นก็จับใจในทันที...” แสดงให้เห็นว่า สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญ ๓ ประการ คือ เป็นสถานที่สมมติการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในประเทศไทย สถานที่สำคัญที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยรัชกาลที่ ๓ และสถานที่ที่อยู่ในเรื่องเล่าระหว่างกันของสองสมเด็จด้วย

          (ภาพประกอบนำเสนอผ่านองค์ประกอบหลักของ “ผ้าปักรูปพุทธประวัติตอนประสูติ ศิลปะพม่า คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” แสดงรูปพระกุมารแรกประสูติ ทำท่าชี้ดัชนีขึ้นบนฟ้าเพื่อสื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในจักรวาล ฉากหลังแสดงภาพ “พระจันทร์” หน้าบันทิศตะวันตกของพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม)