ตริปุรานตกะมูรติ (Tripurāntakamūrti)
จำนวนผู้เข้าชม 3076

ตริปุรานตกะมูรติ (Tripurāntakamūrti)
          พระศิวะ (Śivā) ปางทำลายเมืองอสูรทั้งสาม (Tripura) เมืองทั้งสามเป็นปราการอันมั่นคงของเหล่าอสูรสร้างโดยมายาสุร (Mayāsura) สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายอสูร ให้กับบุตรทั้งสามของอสูรตารกะ (Tāraka) คือ ตารกาษะ (Tārakākṣa) วิทยุนมาลิ (Vidyunmāli) และกมลากษะ (Kamalākṣa) เมืองทั้งสามนี้ได้รับพรจากพระพรหม (Brahmā) ไม่อาจทำลายได้ เว้นแต่ศรดอกเดียวอันทำลายทั้งสามเมืองพร้อมกัน เมืองแรกมีกำแพงสร้างด้วยเหล็กตั้งอยู่บนพื้นโลก เมืองที่สองกำแพงสร้างด้วยเงินตั้งอยู่บนท้องฟ้า และเมืองที่สามกำแพงสร้างด้วยทองตั้งอยู่บนสวรรค์ เมืองทั้งสามเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่เคยอยู่ในระนาบเดียวกัน ในรอบ 1,000 ปี จึงจะบรรจบกันครั้งหนึ่ง เมืองอสูรทั้งสามจึงเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้วยทรัพย์และอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือโลก ยากที่ผู้ใดจะทำลายลงได้
           เมื่อได้รับพรแล้ว อสูรทั้งสามได้ก่อความเดือดร้อนแก่เล่าเทวดา (devas) และฤษี (Ṛṣi) ทั้งได้จับพระอินทร์ (Indra) และคณะเทพไปขังไว้ยังปราสาทเหล็ก เทพทั้งหลายจึงพากันไปอ้อนวอนพระศิวะให้ช่วยเหลือ เมื่อถึงวาระเมืองทั้งสามมาบรรจบกัน เทพเจ้าทั้งปวงจึงได้แบ่งกำลังให้แก่พระศิวะไปปราบอสูรทั้งสาม ทรงประทับบนราชรถอันเป็นนิรมิตของพระปฤถวี (Pṛithivī) เทพีแห่งพื้นปฐพี มีพระอาทิตย์ (Sun) และพระจันทร์ (Moon) เป็นวงล้อ พระพรหมทรงเป็นสารถี เขาพระสุเมรุ (Meru) เป็นคันธนู นาควาสุกรี (Vāsukī) เป็นสายธนู และพระวิษณุ (Viṣṇu) ทรงเป็นศรแห่งจักรวาล พระศิวะทรงแผลงศร ปลดปล่อยคณะเทวดาให้ออกจากที่คุมขัง และเผาทำลายเมืองทั้งสามจนสูญสิ้นไป
          พระศิวะปางตริปุรานตกะ มีหลายลักษณะ มักทำยืนอยู่บนรถเทียมม้า (อัศวะ-aśva) ในท่าอาลีฒาสนะ (ālīḍāsana) คือเหยียดพระชงฆ์ขวาและงอพระชงฆ์ซ้าย อันเป็นท่ายืนของผู้น้าวศร แสดงกฏกมุทรา (kaṭakamudrā) และกรรตรีมุทรา (kartarīmudrā) พระหัตถ์ขวาถือคันธนูและพระหัตถ์ซ้ายเหนี่ยวสายธนู และแสดงมุทราอื่น ๆ เช่น สูจิมุทรา (sūcimudrā) และ วิสมยะมุทรา (vismayamudrā)
           บางครั้งทำ 2 กร โดยปกติทำ 4 กร กรคู่บนถือขวาน (ปรศุ-paraśu) และกวาง (มฤค-mṛga) กรคู่ล่าง อาจถือคันธนู (ธนุส-dhanus) และลูกศร (śara) นอกจากนี้ ถืออาวุธอื่น ๆ เช่น จักร (cakra) คทา (gadā) กระดิง (ฆัณฏา-ghaṇṭā) ดาบ (ขัฑคะ- Khaḍga) โล่ (เขฏกะ-Kheṭa) สังข์ (śankha) สิ่ว (ฏังกะ-ṭaṅka) ตรีศูล (trīiśura) และวัชระ (vajra) รูปแบบอื่น ทรงยืนด้วยบาทข้างหนึ่งเหยียบอยู่เหนืออปัสมารบุรุษ (Apasmārapuruṣa)


ภาพ 1. พระศิวะปางตริปุรานตกะ ศิลปะอินเดีย ศิลาสลัก มี 10 กร ถืออาวุธต่าง ๆ เช่น ตรีศูล, ขัฏวางคะ (ไม้เท้าทำด้วยกระดูกยอดกะโหลก) หอก ดาบ โล่ ฯ ยืนท่าอาลีฒาสนะ งอพระชงฆ์ซ้าย เหยียดพระชงฆ์ขวา พระบาทซ้ายเหยียบอยู่บนอปัสมารบุรุษ จาก Asian Art Museum


ภาพ 2. พระศิวะปางตริปุรานตกะ ศิลปะอินเดีย หล่อโลหะ ยืนบนรถเทียมม้า 4 กร ถือขวาน กวาง คันธนูและลูกศร ภาพจาก Asian Art Museum




ภาพ 3. พระศิวะปางตริปุรานตกะ ศิลปะอินเดียแบบโจฬะ หล่อโลหะ มี 4 กร ถือขวาน กวาง คันธนูและลูกศร (ไม่ปรากฏอยู่แล้ว) ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art

------------------------------------------------

เรียบเรียงข้อมูล: นางเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

อ้างอิงจาก 1. Liebert, Gosta. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976. 2. Stutley , Margaret. The illustrated dictionary of Hindu iconography. London : Routledae & Kegan Paul, 1985. 3. ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522