เล่าเรื่องประติมานวิทยา: วัชรหุงการมุทรา/วัชรหูงการมุทร
จำนวนผู้เข้าชม 4562

เล่าเรื่องประติมานวิทยา: วัชรหุงการมุทรา/วัชรหูงการมุทร(Vajrahuṅkāramudrā/Vajrahūkāramudrā) 
          มุทรา (mudrā) คือ การทำเครื่องหมายด้วยมือและนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว หรือนิ้วใดนิ้วหนึ่ง ในลักษณะต่าง ๆ โดยแสดงด้วยมือข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ซึ่งสื่อความหมายตามบัญญัติ ใช้เป็นท่าทางการแสดงสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู มีบัญญัติไว้เป็นจำนวนมากหลายร้อยภาค มุทราแต่ละท่าจะแฝงนัยความหมายทางจิตวิญญาณที่แตกต่างกันไปตามประติมานวิทยา และการฝึกจิตที่พบในศาสนาแบบอินเดีย
          วัชรหุงการ (Vajrahuṅkāra) หรือ วัชรหูงการ (Vajrahūkāra) เป็นท่ามือแห่งพยางค์ “หูม” (hūṁ) ในพุทธศาสนาลัทธิตันตระ แสดงโดยไขว้ข้อมือทั้งสองระหว่างอก มือขวาถือวัชระ (vajra) มือขวาถือกระดิ่ง (ฆัณฎา-ghaṇṭā) นานครั้ง ๆ จึงปรากฏว่าถือสัญลักษณ์อื่น มือทั้งสองหันเข้าด้านใน หากหันฝ่ามือออก เรียกว่า ไตรโลกยวิชัยมุทรา (trilokyavijayamudrā)
           มุทรานี้เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ การหลุดพ้นจากกิเลส นอกจากนี้ยังกล่าวว่า หมายถึงการผสานรวมกันเข้าระหว่างปรัชญา (prajñā) และอุปาย (upāya) เป็นลักษณะของสมันตภัทร (Samantabhadra) สัมวระ (Samvara) ไตรโลกยวิชัย (Trailokyavijaya) วัชรธร (Vajradhara) วัชรหุงการ (Vajrahuṅkāra) และยิดัม (yi-dam)


ภาพประกอบ 1. ลายเส้นแสดงวัชรหุงการมุทรา ภาพโดยนางกิริยา ชยะกุล สิทธิวัง นักวิชาการช่างศิลป์ กองโบราณคดี


ภาพประกอบ 2. พระวัชรธร 4 กร 2กรหน้าแสดงวัชรหุงการมุทรา ศิลปะทิเบต พุทธศตวรรษที่ 20-21 ภาพจาก Asian Art Museum

--------------------------------------

รียบเรียงข้อมูล: นางเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ภาพลายเส้น: นางกิริยา ชยะกุล สิทธิวัง นักวิชาการช่างศิลป์ กองโบราณคดี

อ้างอิงจาก 1. Liebert, Gosta. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976.