รายงาน การเดินทางไปราชการของอธิบดีกรมศิลปากร และคณะ ในการเข้าร่วมการจัดงานเผยแพร่แลกเปลี่ยนนาฏศิลป์ – ดนตรี และหารือการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙
จำนวนผู้เข้าชม 722

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

๑. ชื่อโครงการ โครงการมหกรรมการแสดงด้านนาฏดุริยางคศิลป์และดนตรีแบบบูรณาการ

                   ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ การจัดงานเผยแพร่แลกเปลี่ยนนาฏศิลป์ – ดนตรีกับสาธารณรัฐ

                   ประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว นครเวียงจันทน์       

๒. วัตถุประสงค์

    ๒.๑ เพื่อเข้าร่วมงานเผยแพร่แลกเปลี่ยนนาฏศิลป์ – ดนตรีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    ๒.๒ เพื่อศึกษาดูงานด้านสังคมและวัฒนธรรม ณ นครเวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    ๒.๓ เพื่อหารือกับอธิบดีกรมมรดก เกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วย

         การดำเนินการแลกเปลี่ยนวิทยาการทางโบราณคดี โบราณสถาน วัฒนธรรม และพิพิธภัณฑสถาน

         ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว    

๓. กำหนดการ   ระหว่างวันที่ ๑๔ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙

๔. สถานที่

   ๔.๑ หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว นครเวียงจันทน์       

   ๔.๒ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์หอพระแก้ว พิพิธภัณฑ์วัดสีสะเกด

        วัดศรีเมือง พระธาตุหลวง วัดองค์ตื้อ

   ๔.๓ โรงเรียนศิลปะแห่งชาติลาว

   ๔.๔ กรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สปป. ลาว

๕. หน่วยงานผู้จัด  สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

๖. หน่วยงานสนับสนุน   -

๗. กิจกรรม 

    ๗.๑ เข้าร่วมงานเผยแพร่แลกเปลี่ยนนาฏศิลป์ – ดนตรีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    ๗.๒ ศึกษาดูงานด้านสังคมและวัฒนธรรม ณ นครเวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    ๗.๓ หารือกับอธิบดีกรมมรดก เกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วย

         การดำเนินการแลกเปลี่ยนวิทยาการทางโบราณคดี โบราณสถาน วัฒนธรรม และพิพิธภัณฑสถาน

         ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว    

๘. คณะผู้แทนไทย  

         ๘.๑ นายอนันต์ ชูโชติ               อธิบดีกรมศิลปากร

         ๘.๒ นางสาวรสนันท์  สรรสะอาด   นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ

         ๘.๓ นางสาวดวงใจ  พิชิตณรงค์ชัย ภัณฑารักษ์ชำนาญการ

         ๘.๔ นางสาวสิริอร  อ่อนทรัพย์     นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ

 

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

วันแรก (ส.๑๔ พ.ค. ๒๕๕๙)           กรุงเทพฯ – เวียงจันทน์

เวลา ๐๙.๓๐ น.                        คณะพร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ  เคาน์เตอร์การบินไทย  

                                             แถว A

เวลา ๑๑.๒๐ น.                        ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ TG 570

เวลา ๑๒.๓๐ น.                        - เดินทางถึงสนามบินนานาชาติวัดไต นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว 

                                         - รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านครัวลาว

                                         - ออกเดินทางไปยังโรงแรมที่พัก Sabaidee@Lao Hotel
                                                Pangkham Road, Sisaket Village, Chanthabouly Dist,      

      Vientiane, Laos
   Tel : (856 21) 265 141-2, 265 152 Fax: (856 21) 265 143
   Email: rsvn@sabaideeatlaohotel.com

เวลา ๑๗.๐๐ น.                         เดินทางไปยังสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ

   ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์

วันที่สอง (อ.๑๕ พ.ค. ๒๕๕๙)          เวียงจันทน์

เวลา ๐๗.๐๐ น.                        รับประทานอาหารเช้า

เวลา ๐๘.๓๐ น.                        ศึกษาสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในเวียงจันทน์

                                              พิพิธภัณฑ์หอพระแก้ว พิพิธภัณฑ์วัดสีสะเกด วัดศรีเมือง

                                              พระธาตุหลวง วัดองค์ตื้อ

เวลา ๑๑.๐๐ น.                        เข้าชมการฝึกซ้อมการแสดงนาฏศิลป์- ดนตรี ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว

เวลา ๑๒.๐๐                           รับประทานอาหารกลางวัน     

เวลา ๑๗.๐๐ น.                       เดินทางไปยังหอวัฒนธรรมแห่งชาติลาวเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง

เวลา ๑๙.๓๐ น.                       เข้าร่วมงานการแสดงนาฏศิลป์ดนตรีไทย ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว

เวลา ๒๑.๓๐ น.                        เดินทางกลับโรงแรมที่พัก

วันที่สาม (จ.๑๖ พ.ค. ๒๕๕๙)         เวียงจันทน์ – กรุงเทพฯ

เวลา ๐๗.๐๐ น.                        รับประทานอาหารเช้า

เวลา ๑๐.๐๐ น.                        เดินทางไปยังโรงเรียนศิลปะแห่งชาติลาว เพื่อชมการสาธิตการแสดงและ

                                                 การบรรเลงระหว่างไทย – ลาว

เวลา ๑๒.๐๐ น.                          รับประทานอาหารกลางวัน

เวลา ๑๔.๐๐ น.                        เข้าพบหารือกับอธิบดีกรมมรดก เกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการแลกเปลี่ยนวิทยาการทางโบราณคดี โบราณสถาน วัฒนธรรม และพิพิธภัณฑสถานระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว

 


รายละเอียดการหารือมีดังนี้

๑. ผู้แทนจากกรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป. ลาว ประกอบด้วย

              ๑.๑ ดร. บุนเที่ยง สิริปะพัน อธิบดีกรมมรดก

              ๑.๒ นายสำราน หลวงอภัย  รองอธิบดีกรมมรดก (ดูแลงานด้านฝ่ายบริหารและบุคลากร)

              ๑.๓ ดร.ทองลิด  หลวงโคตร ผู้อำนวยการกองโบราณคดี

              ๑.๔ นายสุรินทร เพชรชมพู  หัวหน้าแผนกคุ้มครองพิพิธภัณฑสถาน

๒. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับกรมมรดกว่าสืบเนื่องจากกรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการมหกรรมการแสดงด้านนาฏดุริยางคศิลป์และดนตรีแบบบูรณาการ โดยการจัดงานเผยแพร่แลกเปลี่ยนนาฏศิลป์ – ดนตรีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว            หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว นครเวียงจันทน์ ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านการแสดงนาฏศิลป์ - ดนตรี และเป็นการเสริมสร้างพันธมิตรทางวัฒนธรรม และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๖๕ ปีความสัมพันธ์ไทย-ลาว และ ๔๐ ปี แห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการแสดงของคณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากรนั้น มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก และในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ คณะนาฏศิลป์กรมศิลปากร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนการสาธิตการแสดงกับโรงเรียนศิลปะแห่งชาติลาว ในการนี้ อธิบดีกรมศิลปากรจึงขอใช้โอกาสอันดีที่ได้เดินทางเยือนสปป. ลาว เข้าเยี่ยมคารวะอธิบดีกรมมรดก และหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ด้วยกรมศิลปากร ประเทศไทย และกรมมรดก สปป.ลาว มีหน้าที่การทำงานที่คล้ายคลึงกัน         ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางวิทยาการโบราณคดี โบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างใกล้ชิด และทั้งสองหน่วยงานมีนักวิชาการที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานในด้านดังกล่าว หากทั้งสองฝ่ายได้มีการจัดทำความตกลงร่วมกันก็จะสามารถทำให้ความร่วมมือเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยผ่านมิติและบริบทของการดำเนินงานศึกษาวิจัยร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมากรมศิลปากรและกรมมรดกได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวิทยาการทางโบราณคดี โบราณสถาน วัฒนธรรมและพิพิธภัณฑสถาน และได้รับทราบว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อรัฐบาลของ สปป. ลาว กรมศิลปากรหวังว่าบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายลาว เพื่อจะได้จัดให้มีการลงนามร่วมกันในเร็ววันนี้ ซึ่งกรมศิลปากรจะขอเรียนเชิญอธิบดีกรมมรดก และคณะเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อลงนามความตกลงร่วมกัน  และเมื่อมีการลงนามร่วมกันเป็นที่แล้วเสร็จ นักวิชาการของทั้งสองฝ่ายจะได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งกิจกรรมตามแผนงานจะเป็นการแลกเปลี่ยนการศึกษาวิจัยในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถเพื่อปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การดำเนินความร่วมมือระหว่างไทย – ลาว เป็นไปตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ที่มุ่งเน้นให้พัฒนาการทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจักได้ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

 

          ๓. ดร. บุนเที่ยง สิริปะพัน อธิบดีกรมมรดก แสดงความขอบคุณอธิบดีกรมศิลปากรที่ได้ให้เกียรติมาเยี่ยมเยือนกรมมรดกด้วยตนเอง กรมมรดก สปป. ลาว แบ่งการทำงานออกเป็น ๔ แผนก ได้แก่

 -  แผนกคุ้มครองโบราณวัตถุ      -  แผนกคุ้มครองพิพิธภัณฑสถาน

                   -  แผนกคุ้มครองมรดกสถาน (historical monument)      

                   -  แผนกคุ้มครองมรดกนามธรรม (intangible cultural heritage)

แผนกต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรม ผลงานที่โดดเด่นของกรมมรดกคือการดำเนินงานร่วมกับองค์กรยูเนสโก ในการปกป้องคุ้มครอง แหล่งมรดกโลกหลวงพระบาง และวัดพู จำปาสัก รวมไปถึงมรดกโลกทางธรรมชาติ คือ ทุ่งไหหิน ที่เมืองเชียง ปัจจุบันนี้ทางแผนกวัฒนธรรม แขวงบ่อแก้ว และ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ได้มีมาตรการอนุรักษ์และประกาศให้ เมืองเก่าสุวรรณโคมคำ เป็นปูชนียสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่อนุรักษ์และหวงห้าม เป็นอุทยานแห่งการศึกษาหาความรู้ แหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของนักค้นคว้า นักศึกษา นักอนุรักษ์นิยม และรักษาวัฒนธรรมอันหลากหลาย 

              ในปี ๒๕๕๙ นี้ นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีของ สปป. ลาว ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน งานด้านวัฒนธรรมจะเน้นในเรื่อง Promotion, Preservation and Protection

              ในส่วนของความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ควรเน้นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะมีประเพณี วัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกัน มากกว่าที่จะไปมีความร่วมมือกับฝรั่งต่างชาติอย่างชาวยุโรป ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและที่ตั้งของประเทศก็อยู่ห่างไกลกัน และมีความยินดีที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับประเทศไทย เพื่อให้งานด้านอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเป็นรูปธรรม

              ดร.ทองลิด หลวงโคตร ผู้อำนวยการกองโบราณคดี  แจ้งให้ทราบว่ากรมมรดกได้เคยนำเสนอกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวิทยาการทางโบราณคดี โบราณสถาน วัฒนธรรมและพิพิธภัณฑสถาน กับประเทศไทย และได้เตรียมคณะจะเดินทางไปลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ที่ประเทศไทยแล้ว แต่เนื่องจากตรงกับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันชาติของ สปป. ลาว จึงทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปก่อน อีกทั้งยังมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลของ สปป. ลาว ชุดใหม่ ดังนั้น กรมมรดกจึงทำให้ต้องดำเนินการนำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเบื้องต้นได้รับทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศน่าจะให้ความเห็นชอบ หากกรมมรดกได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศ จะประสานให้ฝ่ายไทยทราบในโอกาสแรก

             ดร. บุนเที่ยง สิริปะพัน อธิบดีกรมมรดก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันนี้กรมมรดกยังคงขาดแคลนบุคลากรในการทำงาน และงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงาน การดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศในลักษณะการแลกเปลี่ยนความร่วมมือจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประเด็นนี้ทางฝ่ายลาวยังต้องมีการพิจารณากันต่อไป

 

๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

       ๑๐.๑ การจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีในต่างประเทศ จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศนั้นๆ  สำหรับการจัดการแสดงฯ ที่ สปป. ลาว ในครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประสานการทำงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์  หอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว นครเวียงจันทน์  และโรงเรียนศิลปะแห่งชาติลาว ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจนทำให้การจัดการแสดงราบรื่นและประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม

       ๑๐.๒ จากการศึกษาสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของ สปป. ลาว ทำให้เห็นว่าโบราณสถานส่วนใหญ่จะเป็นวัด ซึ่งยังคงมีประชาชนเข้าใช้ประกอบศาสนกิจอยู่เป็นประจำ จึงทำให้ต้องดูแลรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่อยู่ตลอดเวลา เพื่อความสวยงามและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยี่ยมชม

       ๑๐.๓ จากการหารือกับกรมมรดก เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมกับ สปป. ลาว นั้น ฝ่ายไทยควรจัดเตรียมงบประมาณให้มีความพร้อมเนื่องจากฝ่ายลาวยังเป็นประเทศที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือทั้งด้านงบประมาณเครื่องมือและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี รวมทั้งบุคลากรค่อนข้างมาก

 

นางสาวสิริอร  อ่อนทรัพย์  นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ